คืบก็แมงกะพรุน ศอกก็แมงกะพรุน
- คืบก็แมงกะพรุน ศอกก็แมงกะพรุน
- ผลกระทบจากการ Bloom ของแมงกะพรุน
Jellyfish Bloom คือปรากฏการณ์ที่แมงกะพรุนรวมตัวกันอย่างหนาแน่น ซึ่งในบางกรณีอาจหนาแน่นซะจนมีแมงกะพรุนมากกว่าน้ำซะอีก โดยครั้งหนึ่งเคยมีบันทึกไว้ว่าบริเวณที่มีแมงกะพรุนหนาแน่นนี้ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งมากกว่า 100 ไมล์ !!
โดยทั่วไป การบลูมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตตามธรรมชาติของแมงกะพรุน เนื่องจากแมงกะพรุนในระยะ Polyp (ที่เป็นหน่อเกาะกับพื้น และทำการโคลนนิ่งตัวเอง) มักจะ แยกตัวออกมากลายเป็นระยะ Medusa (ที่ล่องลอยกลางน้ำ) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ผืนน้ำบริเวณนั้นเต็มไปด้วยแมงกะพรุนจำนวนมาก ซึ่งสัตว์ที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก เช่น เต่ามะเฟือง ก็มีวิวัฒนาการมาให้เหมาะกับวงจรแบบนี้ คือมีหลอดอาหารที่ยาวเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้กินแมงกะพรุนครั้งละมากๆ ได้
ในขณะเดียวกัน การกระทำของมนุษย์ก็ส่งผลเอื้อต่อการเพิ่มจำนวนของแมงกะพรุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้แมงกะพรุนเติบโตดี การประมงเกินขนาดที่กำจัดปลาคู่แข่งที่แย่งอาหารแมงกะพรุน ขยะพลาสติกที่ฆ่าผู้ล่าแมงกะพรุน รวมถึงน้ำเสียที่ทำให้ปลาอื่นตาย เหลือไว้แต่แมงกะพรุนครอบครองอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่า จำนวนแมงกะพรุนทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากขาดข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแมงกะพรุนหลายชนิดอยู่กลางทะเลเปิดและในน้ำลึก ทำให้การติดตามประชากรเป็นไปได้ยาก แต่หากพูดถึงในระดับพื้นที่ ชายฝั่งหลายแห่งมีการยืนยันถึงการเพิ่มขึ้นของแมงกะพรุนอย่างชัดเจน และหลายแห่งก็เพิ่มขึ้นในระดับที่สร้างปัญหาจนกลายเป็นวาระแห่งชาติ