วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษแมงกะพรุน
- แมงกะพรุนมีพิษทุกชนิดหรือไม่
- แมงกะพรุนชนิดไหนพิษอ่อน ชนิดไหนพิษร้าย
- วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษแมงกะพรุน
สิ่งสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้คือ หนวดแมงกะพรุนที่เหลือบนผิวหนังยังยิงเข็มพิษได้ ดังนั้น ผู้ที่ช่วยจะต้องระวังไม่ให้ตัวเองกลายเป็นผู้บาดเจ็บไปด้วย โดยมีขั้นตอนการปฐมพยาบาลดังนี้
1. นำหนวดแมงกะพรุนที่หลงเหลือที่ผิวหนังออกให้หมด
- ห้ามใช้มือจับโดยตรง (อาจใช้คีม, บัตรพลาสติกแข็งเขี่ยออก หรือใช้กระดาษทิชชูซับ)
- ทิ้งในที่ปลอดภัยและมิดชิด ที่จะไม่มีใครไปสัมผัสมันอีก
- ห้ามขัดถูหรือขยี้บริเวณแผล
2. ราดด้วยน้ำส้มสายชู นานอย่างน้อย 30 วินาที (หรือถ้าไม่มี ให้ใช้น้ำทะเลแทน หรือจะแช่ในน้ำทะเลก็ได้)
- ห้าม! ราดด้วยน้ำจืด, ปัสสาวะ, แอลกอฮอล์, แอมโมเนีย, น้ำอัดลม, เบกกิ้งโซดา ฯลฯ (เนื่องจากสารเหล่านั้นจะกระตุ้นให้เข็มพิษที่หลงเหลือทำงาน)
- สำหรับแผลบริเวณดวงตา ให้ใช้ผ้าชุบน้ำส้มสายชูซับเบาๆ รอบๆ ดวงตา โดยระมัดระวังการสัมผัสกับลูกตาโดยตรง
- ห้ามขัดถูหรือขยี้บริเวณแผล
หมายเหตุ : น้ำส้มสายชูไม่ได้ลดอาการปวด แต่จะลดการทำงานของเข็มพิษที่หลงเหลือบนผิว
หมายเหตุ2 : ในกรณีของแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Physalia sp.) ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าควรใช้น้ำส้มสายชูหรือไม่ เนื่องจากงานวิจัยหลายชิ้นมีความขัดแย้งกัน แต่งานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในปี 2017 ระบุว่า น้ำส้มสายชูช่วยยับยั้งการทำงานของเข็มพิษที่หลงเหลือบนผิวได้
3. หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ช่วยหายใจ หากไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจ
- เรียกรถพยาบาล โทร. 1669
4. ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ ให้มากที่สุดเพื่อลดการทำงานของเข็มพิษที่ยังหลงเหลือ
5. หากมีครีม Safe Sea ให้พ่นหรือทาลงที่แผลได้ (ห้ามใช้มือเปล่าทา และระวังอย่าให้เป็นการถู)
แม้ว่า Safe Sea จะไม่ได้ช่วยแก้ไขหลังจากถูกพิษแล้ว แต่ด้วยคุณสมบัติของครีมที่ช่วยหยุดยั้งการทำงานของเข็มพิษโดยตรง ทำให้สามารถป้องกันผู้ป่วยจากเข็มพิษที่หลงเหลือบนผิวหนังได้
6. ในกรณีที่อาการรุนแรง เช่น ปวดมาก กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก ใจสั่น หายใจขัด หน้าซีด ให้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้อยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์