อันตรายจากแมงกะพรุน
อันตรายจากแมงกะพรุนเกิดจากการสัมผัสกับพิษที่อยู่ตรงบริเวณหนวดของแมงกะพรุน ซึ่งแมงกะพรุนใช้เพื่อจับเหยื่อที่ลอยมาตามกระแสน้ำ ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต สลบ หรือเสียชีวิต
สำหรับมนุษย์อย่างเราหากบังเอิญไปสัมผัสโดนหนวดของแมงกะพรุนที่มีพิษเข้า ผลที่ปรากฏอาจมีได้ตั้งแต่ เป็นรอยผื่นแดง เกิดแผลพุพอง ไปจนถึงหมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพิษแมงกะพรุนชนิดนั้นๆ และระดับการแพ้พิษของผู้ป่วยด้วย
- แมงกะพรุนที่มีพิษปานกลางถึงรุนแรง ได้แก่ แมงกะพรุนไฟ แมงกะพรุนสาหร่าย
- แมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงมาก คือ แมงกะพรุนไฟขวดเขียว (Protuguese Man-of-War หรือ Blue Bottle) และแมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish หรือ Sea Wasp ที่แปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่า “แตนทะเล” แต่เป็นคนละแตนทะเลที่เราเรียกกันอยู่ทั่วไปนะ)
- พิษของแมงกะพรุนกล่องชนิด Chironex fleckeri นับเป็นพิษจากสัตว์ที่มีผลรุนแรงที่สุดในโลก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในไม่กี่นาที
- พิษของแมงกะพรุน บรรจุอยู่ในแคปซูลที่เรียกว่า nematocyst ซึ่งกระจายอยู่ทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณหนวด แคปซูลที่ว่านี้จะทำงานเมื่อสัมผัสกับเหยื่อ โดยการยิงเข็มพิษออกมาเพื่อเจาะผ่านผิวหนังของเหยื่อลงไป แล้วปล่อยพิษเข้าสู่ตัวเหยื่อ
- แม้แมงกะพรุนจะตายแล้ว หรือหนวดจะหลุดจากตัวแล้ว แต่เข็มพิษของแมงกะพรุนยังคงทำงานต่อได้อีกหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน
สถิติจากทั่วโลก
150 ล้านคนต่อปี
ที่ประสบเหตุร้ายจากการสัมผัสแมงกะพรุน
10000 คนต่อปี
ที่โดนพิษแมงกะพรุนไฟขวดเขียวในออสเตรเลีย
20 - 40 คนต่อปี
ที่เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนกล่อง ในฟิลิปปินส์
*ข้อมูลจาก Jellyfish by The Numbers; National Science Foundation
สถิติอันตรายจากแมงกะพรุนของไทยในรอบ 16 ปี*
918 คน
ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
17 คน
หมดสติ
7 คน
เสียชีวิต
*ข้อมูลสถิติระหว่าง พ.ศ. 2542 – 2558 จาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข