วงจรชีวิต 2 ช่วงวัย : จาก Polyp สู่ Medusa
- สวยใสไร้สมอง
- มีอะไรข้างในวุ้นใส ?
- เข็มพิษระบบอัตโนมัติ
- วงจรชีวิต 2 ช่วงวัย : จาก Polyp สู่ Medusa
- ระบบขับเคลื่อนพลังน้ำ
- เมื่อ NASA ส่งแมงกะพรุนไปอวกาศ
วงจรชีวิตของแมงกะพรุน หากพูดให้นึกภาพง่ายๆ ให้นึกถึงผีเสื้อที่มีการกลายร่างจากไข่ เป็นตัวหนอน เป็นดักแด้ จนเข้าสู่ตัวเต็มวัย… แมงกะพรุนก็มีหลักการคล้ายๆ กัน คือวัยเด็กของมัน หน้าตาไม่ได้เหมือนพ่อแม่ แต่วงจรชีวิตแมงกะพรุนมีความล้ำกว่าตรงที่ว่า ไข่ที่ได้รับการผสม 1 ฟอง สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นแมงกะพรุนได้หลายตัว !
วงจรชีวิตของแมงกะพรุนทั่วๆ ไป เริ่มจากแมงกะพรุนตัวผู้และตัวเมียปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาในมวลน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะ ‘Planula’ ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนตัวจิ๋วลอยละล่องตามกระแส มันจะมีชีวิตราว 2-3 วัน แล้วก็เริ่มหาที่ลงเกาะบนพื้นทะเลจากนั้นมันก็จะเติบโตและทำการโคลนนิ่งตัวเองด้วยการแตกหน่อ โดยเกาะติดอยู่ที่พื้นทะเล ระยะนี้เรียกว่า ‘Polyp’ เมื่อมันเติบโตขึ้นจนถึงระยะที่เหมาะสม แต่ละหน่อก็จะสละยานแม่ แยกตัวออกเป็นอิสระ กลายเป็นแมงกะพรุนน้อยๆ มากมายล่องลอยในมวลน้ำ ช่วงแรกๆ หน้าตาจะคล้ายกลีบดอกไม้แฉกๆ เรียกระยะ ‘Ephyra’ ก่อนจะเติบโตจนหน้าตาเป็นแมงกะพรุนแบบที่เราคุ้นเคยกัน ที่เรียกว่าระยะ ‘Medusa’
แล้ว Medusa นี้ก็จะกลายเป็นขุ่นพ่อขุ่นแม่แมงกะพรุน ปล่อยไข่และสเปิร์มเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของวงจรชีวิตแมงกะพรุนคือ แม้ว่า Medusa แต่ละตัว จะแยกตัวผู้กับตัวเมียชัดเจน แต่ในระยะที่มันเป็น Polyp มันสามารถโคลนนิ่งตัวเองออกมาได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย หรือพูดอีกอย่างว่า จากไข่และสเปิร์มหนึ่งคู่ จะได้ผลผลิตเป็นแมงกะพรุนที่มี DNA เหมือนกันหลายตัวที่มีทั้งตัวผู้และตัวเมียปะปนกัน!
อย่างไรก็ตาม วิธีและรูปแบบการแตกหน่อของแมงกะพรุนแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันมาก บางชนิดช่วงแตกหน่อจะดูเหมือนจานซ้อนกันเป็นชั้นๆ บางชนิดแตกหน่อออกด้านข้าง บางชนิดไม่มีระยะ Polyp แต่เป็น Medusa เองที่ทำหน้าที่แตกหน่อ อ่านต่อ
ส่วนวิธีผสมพันธุ์ของแมงกะพรุนแต่ละชนิด ก็มีความแตกต่างกันมากมาย บางชนิดมีสองเพศในตัวเดียว บางชนิดไข่ได้รับการผสมภายในตัวแม่และมันก็อุ้มท้องด้วย อ่านต่อ
อ้างอิง : หนังสือ Jellyfish: A Natural History (ผู้เขียน Lisa-ann Gershwin)