ย้อนวัยสู่ความใสปิ๊ง
- ย้อนวัยสู่ความใสปิ๊ง
- ระบบซ่อมแซมตัวเองสุดเจ๋ง
- The Master of Survival
- ฟอสซิลแมงกะพรุนดึกดำบรรพ์
ลองจินตนาการถึงหนังไซไฟที่เริ่มต้นฉากแรกด้วยพระเอกแก่ๆ ผิวหนังเหี่ยวย่น โรคภัยรุมเร้า แล้วเขาก็นอนลงบนเตียง หลับไป ร่างกายค่อยๆ หดเล็กลง ทันใดนั้น เขาก็กลายร่างย้อนวัยกลายเป็นเด็กน้อย แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่!
สำหรับมนุษย์ นี่อาจดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ห่างไกลจากความเป็นไปได้ แต่สำหรับแมงกะพรุน… นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง!!
ในปี 2011 นักวิจัยทางทะเลคนหนึ่งเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนพระจันทร์ (Aurelia spp.) ตัวหนึ่งมาเลี้ยงในห้องแล็บ เวลาผ่านไปจนแมงกะพรุนตัวนั้นเริ่มแก่ตัวและใกล้ตาย แต่แทนที่จะทิ้ง เขากลับย้ายมันไปไว้ในอีกตู้หนึ่ง ด้วยความคิดแค่ว่า เผื่อจะมีอะไรน่าสนใจ… แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เหนือความคาดหมายสุดๆ
ในตู้ที่ซากแมงกะพรุนแก่ๆ จมลงสู่พื้น กลับปรากฏหน่อของ Polyp (วัยเด็กของแมงกะพรุน) งอกออกมา เปรียบได้กับเห็นตัวหนอนชินเมโจได๋ งอกออกมาซากผีเสื้อ! การย้อนวัยนี้นอกจากเกิดเมื่อแมงกะพรุนมีอายุมากแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นเมื่อมันเจอภาวะไม่เหมาะสม เช่น อาหารไม่พอ หรือในตู้แออัด แมงกะพรุนบางส่วนจะค่อยๆ จมลงสู่พื้น ลำตัวหดเล็กลง อวัยวะภายในสลายไป แล้วสักพัก หน่อ Polyp ก็จะงอกฟื้นขึ้นมาจากความตาย… ใช้ชีวิตและขยายพันธุ์ต่อไป!
ภาพ: https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0145314
ความสามารถนี้ ไม่ได้จำกัดแค่แมงกะพรุนพระจันทร์เท่านั้น แต่แมงกะพรุนอีกหลายชนิด เช่น Chrysaora hysoscellia, Rhizostoma pulmo, Turritopsis nutricula ฯลฯ ก็มีบันทึกไว้ว่าสามารถย้อนวัยจากระยะ Ephyra (วัยรุ่นของแมงกะพรุน) กลับไปสู่ระยะ Polyp ได้เช่นกัน
แต่ที่ต้องยกให้เป็นอันดับหนึ่งและเป็นเทพแห่งการย้อนวัยโดยแท้ ก็คือ ‘แมงกะพรุนอมตะ’ (Immortal Jellyfish) (Turritopsis dorhnii) ที่สามารถย้อนกลับไปกลับมาระหว่าง Medusa – Polyp ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งเหตุผลเดียวที่มันไม่ลอยอยู่เต็มทะเลก็คือ ถูกกินนั่นเอง
อ้างอิง