The Master of Survival
- ย้อนวัยสู่ความใสปิ๊ง
- ระบบซ่อมแซมตัวเองสุดเจ๋ง
- The Master of Survival
- ฟอสซิลแมงกะพรุนดึกดำบรรพ์
แม้แมงกะพรุนจะดูเป็นสัตว์บอบบาง แต่ที่จริงแล้วมันสุดแสนจะถึกและทนทาน หลักฐานจากฟอสซิลแมงกะพรุนดึกดำบรรพ์ยืนยันว่า พวกมันอยู่รอดบนโลกนี้มาแล้วกว่า 500 ล้านปี รอดพ้นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) ครบทั้ง 5 ครั้ง – มหาวิบัติที่คร่าสิ่งมีชีวิตบนโลกไปกว่า 99% ไม่อาจทำอะไรน้องเยลลี่ของเรา !!
แม้กระทั่งปัจจุบัน – ในยุคที่เรียกว่าเป็น ‘ยุคแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6’ (The 6th Extinction) ซึ่งเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จากน้ำมือมนุษย์ – ไม่ว่าจะโลกร้อน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทะเลมีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น มลพิษและสารเคมีในทะเลเพิ่มขึ้น ขยะพลาสติกทุกหนทุกแห่ง แต่เจ้าแมงกะพรุนก็ดูเหมือนจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร แถมยังเพิ่มจำนวนสบายใจเฉิบด้วยซ้ำ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม…
- โลกร้อน : อุณหภูมิที่สูงขึ้นกลับช่วยเพิ่มอัตราเมตาบอลิซึมของแมงกะพรุน ทำให้พวกมันโตเร็วขึ้น สืบพันธุ์มากขึ้น และมีชีวิตยาวนานขึ้น
- ขยะพลาสติกในทะเล : กลายเป็นที่ให้ Polyp ยึดเกาะ และเป็น ‘เรือนแพ’ พาพวกมันกระจายพันธุ์ไปทั่วมหาสมุทร ส่วนพวกตัวเต็มวัยก็อาศัยขยะที่ลอยล่องเป็นเกราะกำบังหลบซ่อนตัว เพราะสีสันของขยะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ล่า โดยเฉพาะ ‘เต่าทะเล’ – นักกินแมงกะพรุนมือวางอันดับหนึ่ง ก็พ่ายแพ้ต่อขยะทะเล ไปกินถุงพลาสติกจนตายราวกับใบไม้ร่วง เหล่าแมงกะพรุนจึงเพิ่มจำนวนสบายใจโดยไม่มีใครควบคุม
- มลพิษและสารเคมี : พวกมันอายุสั้นเกินกว่าที่ผลกระทบจากสารเคมีจะทำอะไรได้ ส่วนมะเร็งก็ไม่ต้องพูดถึง… เพราะร่างกายมันเป็นน้ำซะ 95% แทบไม่มีอวัยวะอะไรให้เป็นมะเร็ง
- Dead Zone (พื้นที่ที่ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำมาก) : พื้นที่แบบนี้กำลังขยายตัวขึ้นทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากมลพิษและแร่ธาตุส่วนเกินที่ทำให้แพลงก์ตอนพืชเพิ่มปริมาณจนเกินสมดุล แล้วเมื่อแพลงก์ตอนพืชเหล่านั้นตายและจมสู่ก้นทะเล แบคทีเรียก็จะดึงออกซิเจนจากน้ำไปใช้ในการย่อยสลาย ทำให้ค่าออกซิเจนละลายน้ำลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ ผลคือแทบไม่มีสัตว์ชนิดไหนอาศัยอยู่ได้… แต่ถึงกระนั้น พี่แมงกะพรุนของเรายังสามารถลอยตัวหากินอยู่เหนือ Dead Zone และดำลงไปหาอาหารใน Dead Zone เป็นระยะสั้นๆ ได้ เพราะมันสามารถเก็บออกซิเจนในเนื้อเยื่อ และอัตราการใช้ออกซิเจนของมันก็ไม่มากนัก ทำให้ในพื้นที่ Dead Zone หลายแห่ง แมงกะพรุนจึงขึ้นแท่นเป็น Top Predator – ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในบริเวณนั้น
- การทำลายชายฝั่ง : ไม่ว่าจะเป็นกำแพงกันคลื่น ท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล ท่าเรือ ตอม่อสะพาน ก็ไม่มีปัญหาต่อการเจริญเติบโตของแมงกะพรุน และจากการทดลองในห้องแล็บพบว่า Polyp ของแมงกะพรุนชอบเกาะกับวัสดุที่มนุษย์สร้างมากกว่าพื้นผิวธรรมชาติด้วยซ้ำ
ในวันที่ทะเลถูกทำร้ายและความหลากหลายในทะเลกำลังลดลงเรื่อยๆ… ไม่แน่ว่าอนาคต มหาสมุทรอาจถูกยึดครองโดยแมงกะพรุน !!
อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)
ภาพ: http://www.plosone.org/article/info:doi/10.1371/journal.pone.0001121