การเดินทางประจำวัน
เมื่อพูดถึงการอพยพ เรามักนึกถึงนกอพยพหนีหนาว หรือ Wildebeest แถบแอฟริกา แต่จริงๆ แล้วการอพยพที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ในมหาสมุทร และเป็น ‘การอพยพแนวดิ่ง’ (Vertical Migration)
ทุกๆ เย็นย่ำยามสนธยาของแต่ละวัน จะมีนักเดินทางทั่วโลกราว 5 พันล้านตัน เดินทางจากขึ้นมาจากน้ำลึก เพื่อขึ้นมาหากินในโซนน้ำตื้นที่แสงส่องถึง ก่อนจะกลับลงไปในตอนเช้าตรู่ พวกนี้มีด้วยกันหลายชนิด เช่น แพลงก์ตอนสัตว์ กุ้ง หมึก Krill รวมถึงแมงกะพรุนน้ำลึก
สาเหตุที่มันต้องทำแบบนี้ เพราะ
- ในน้ำลึกมีอุณหภูมิต่ำ ทำให้ระบบเมตาบอลิซึมลดลง หรือพูดง่ายๆ ว่า เวลาอยู่ตรงนั้นประหยัดพลังงานได้มากกว่า ทำให้สัตว์หลายชนิดเลือกที่จะอยู่ตรงนั้น
- แต่การจะอยู่ในน้ำลึกทั้งวันทั้งคืนก็ไม่ดีนัก เพราะอาหารส่วนใหญ่อยู่ในที่ตื้น เริ่มจากแพลงก์ตอนพืชที่อาศัยอยู่ในโซนที่มีแสงสว่าง ทำให้แพลงก์ตอนสัตว์จำนวนมากเคลื่อนที่ขึ้นมากินในช่วงกลางคืน สัตว์พวกที่กินแพลงก์ตอนก็จะตามขึ้นมาอีกที
- ข้อดีอีกอย่างของการขึ้นมากลางคืนคือ ผู้ล่าในช่วงกลางคืนน้อยกว่า
แม้ว่าการอพยพแนวดิ่งแบบนี้จะพบมากในแมงกะพรุนน้ำลึก แต่แมงกะพรุนบางชนิดในแถบชายฝั่งก็มีการอพยพแนวดิ่งเช่นกัน แต่ในระยะทางที่สั้นกว่า เช่น แมงกะพรุนพระจันทร์ (Aurelia spp.) จะมีการเคลื่อนที่มารวมตัวที่ผิวน้ำเพื่อปล่อยไข่และสเปิร์มให้ผสมกัน (Spawning)
นอกจากนั้น ยังมีการอพยพประจำวันในแนวระนาบด้วย เช่น แมงกะพรุนพระจันทร์ที่หมู่เกาะแห่งหนึ่งในแคนาดา ทุกๆ วัน มันจะอพยพไปในแนวตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ที่ชายฝั่งได้รับแสงยาวนานที่สุดของวัน
อย่างไรก็ตาม การอพยพบางประเภทยังเป็นปริศนา เช่น ที่ออสเตรเลียมีการพบว่า หลังจากช่วงฝนตกหนักในทุกฤดูฝน จะมี Medusa วัยเด็กของแมงกะพรุนกล่อง Chironex Fleckeri ลอยออกจากปากแม่น้ำลงสู่ทะเล แต่ยังไม่เคยมีใครเคยเห็นพวกมันอพยพกลับขึ้นไปในแม่น้ำเลย รวมทั้งระยะ Polyp ของมันที่อยู่ในแม่น้ำ ก็เคยมีคนเห็นเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เรื่องราวความสัมพันธ์ของแมงกะพรุนกล่องชนิดนี้กับแม่น้ำจึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป
https://www.nathab.com/blog/the-largest-migration-on-earth-is-vertical/
หนังสือ Jellyfish: A Natural History (ผู้เขียน Lisa-ann Gershwin)