ทากทะเลมังกรสีฟ้า (Blue Dragon, Sea Swallow, Blue Angel, Blue Glaucus)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glaucus atlanticus
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful/Super Painful

Sea Swallow, Blue Glaucus, Blue Sea Slug, Blue Ocean Slug and Lizard Nudibranch

แม้จะมีขนาดเพียงแค่ไม่กี่เซนติเมตร แต่เจ้าตัวนี้กินแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสเป็นอาหาร แล้วมันก็ขโมยเข็มพิษของเหยื่อมาเก็บไว้ที่รยางค์ของตัวเอง และด้วยพื้นที่ผิวที่น้อย ทำให้จำนวนเข็มพิษต่อพื้นที่มีความหนาแน่นมาก การสัมผัสเจ้าทากทะเลชนิดนี้ จึงอาจสร้างความเจ็บปวดได้พอๆ กับเจ้าแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส แต่ด้วยความที่มันตัวเล็กและอาศัยอยู่ที่ผิวน้ำกลางทะเลเปิด โอกาสที่จะได้รับอันตรายจากมันจึงมีไม่มากนัก

หอยเต้าปูน (Cone Snail, Cone Shell)

Family Conidae
ระดับความรุนแรงของพิษ : Deadly

หอยเต้าปูนมีมากกว่า 600 ชนิด อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล หากเผลอไปจับ มันสามารถยื่นงวง (Proboscis) ออกมายิงเข็มพิษเข้าใส่ได้ ระดับความเจ็บปวดมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงมาก แผลอาจบวม เป็นสีคล้ำ มีอาการชาลามไปทั่วตัว ไปจนถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิต ขึ้นกับชนิดหอยเต้าปูนและปริมาณพิษที่ได้รับ หากโดนพิษ ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะบางครั้งแม้ไม่เจ็บปวดขณะโดนพิษ แต่อาจมีอาการร้ายแรงถึงแก่ชีวิตในภายหลังได้

พิษของหอยเต้าปูนยังไม่มียารักษา ทำได้เพียงรักษาตามอาการ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ล้างแผลในน้ำอุ่น (ห้ามดูดแผลหรือกรีดแผล) ใช้ผ้ายืดพันเหนือแผลให้แน่น เพื่อลดการเคลื่อนที่ (แต่ในระดับที่เลือดยังไหลเวียนได้ สังเกตจากใต้บริเวณที่ถูกรัดยังมีสีเลือด) อาจใช้ไม้ดามช่วยตรงข้อต่อ คลายออกทุกๆ 10 นาที แล้วจับเวลา 90 วินาที แล้วรัดใหม่ ทำอย่างนี้ 4-6 ชั่วโมงแรก หรือจนถึงโรงพยาบาล

ข้อมูลจาก https://www.emedicinehealth.com/wilderness_cone_snail_sting/article_em.htm

หมึกสายวงฟ้า, หมึกสายบลูริง (Blue-ringed Octopus)

Hapalochlaena spp.
ระดับความรุนแรงของพิษ : Deadly

เป็นหมึกทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก วงสีฟ้าจะเข้มจัดเมื่อโกรธหรือป้องกันตัวเอง ปล่อยพิษโดยการกัด ซึ่งพิษสามารถทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเป็นอัมพาต ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ แต่หมึกชนิดนี้ (รวมทั้งหมึกโดยทั่วไป) ไม่ได้ก้าวร้าวไล่กัดคน หากเราไม่ไปจับมัน โอกาสถูกกัดก็แทบไม่มี

ดาวมงกุฎหนาม (Crown of Thorns Starfish)

Acanthaster planci
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painfu/Super Painful

Crown of Thorns

ดาวทะเลชนิดนี้เต็มไปด้วยหนามซึ่งมีพิษ หากถูกหนามตำจะสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก หากโดนพิษเป็นปริมาณมากหรือในคนที่แพ้ อาจมีอาการชา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว

วิธีปฐมพยาบาลทำโดยใช้แหนบคีบหนามออกอย่างระมัดระวัง โดยไม่ให้มีหนามหักคาใต้ผิวหนัง จากนั้นให้แช่แผลในน้ำอุ่น (อุ่นที่สุดเท่าที่จะทนได้) ประมาณ 30-90 นาที แล้วล้างด้วยสบู่ อาจล้างอีกครั้งด้วยน้ำทะเล จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่แผล โดยห้ามปิดพลาสเตอร์ที่แผล ถ้าเป็นไปได้ควรรีบพบแพทย์

หากผ่านไป 2-3 สัปดาห์ แล้วแผลมีอาการบวมแข็ง เจ็บปวดมากเวลาสัมผัส อาจเป็นไปได้ว่ามีหนามหักคาอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ให้พบแพทย์เพื่อผ่าออก

ข้อมูลจาก https://www.webmd.com/a-to-z-guides/wilderness-starfish-crown-thorns-sea-star-punctures

เม่นดอกไม้ (เม่นทะเลแต่งตัว) (Flower Urchin)

Toxopneustes pileolus
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful/Deadly/Super Painful

นี่คือพวกสวยซ่อนพิษโดยแท้ เม่นทะเลชนิดนี้ พิษของมันไม่ได้อยู่ที่หนาม แต่จะอยู่ตรงปุ่มๆ ที่ดูคล้ายกลีบดอกไม้ที่เรียกว่า pedicellaria ซึ่งซ่อนไว้ด้วยเขี้ยวและต่อมพิษ หากไปสัมผัสจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรง ในบางรายอาจมีอาการชา อ่อนแรง ระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุให้จมน้ำเสียชีวิตได้

วิธีปฐมพยาบาลคือนำผู้ป่วยขึ้นจากน้ำ และนำเศษ pedicellaria ออกจากแผลให้เร็วที่สุด แช่แผลในน้ำที่อุ่นที่สุดเท่าที่จะทนได้ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะถึงมือแพทย์

ข้อมูลจาก https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/invertebrate-venomations

ปลาแมงป่อง (Scorpionfish), ปลาหิน (Stonefish), ปลาสิงโต (Lionfish)

Family Scorpaenidae
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful/Deadly/Super Painful

ทั้ง 3 เป็นปลาในวงศ์เดียวกัน ซึ่งครีบแหลมๆ ของมันมีพิษร้ายแรง หากเผลอไปจับและถูกครีบแทง จะมีอาการเจ็บปวดสาหัส ในบางรายอาจมีอาการอ่อนแรง ปวดหัว เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน หรือหัวใจเต้นผิดปกติได้

การปฐมพยาบาลให้เริ่มที่การนำผู้ป่วยขึ้นจากน้ำ และนำครีบที่หลงเหลือหรือหักคาแผลออก แช่แผลในน้ำอุ่น 42-45 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30-90 นาที และนำส่งโรงพยาลให้เร็วที่สุด

ปลาสิงโตไม่ค่อยมีปัญหานักเนื่องจากสีสันสะดุดตา ว่ายหลบหลีกได้ง่าย แต่ปัญหาใหญ่จะอยู่ที่ปลาแมงป่องกับปลาหิน ที่พรางตัวได้เนียนสุดๆ พวกมันจะชอบเกาะนิ่งอยู่ที่พื้นทะเล มีสีสันรูปทรงดูราวกับก้อนหินไม่มีผิด โดยเฉพาะปลาหินซึ่งบางครั้งก็ชอบมุดตัวอยู่ใต้ทราย โผล่มาแค่ครีบหลังหรือหัว ยิ่งทำให้มองเห็นยาก และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่นักดำน้ำไม่ควรสัมผัสสิ่งใดๆ ใต้ทะเล แม้กระทั่งสิ่งที่ดูเหมือนก้อนหิน… เพราะที่จริงมันอาจเป็นปลาแมงป่องหรือปลาหินก็ได้ !!

ข้อมูลจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482204/

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไฟลัม Cnidaria