ในการจัดสิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นหมวดหมู่ นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งโดยอ้างอิงตามลำดับวิวัฒนาการ หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ลำดับญาติ’ โดยดูจาก DNA เป็นหลัก สิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะถูกจัดเป็นกลุ่มๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะถูกแบ่งย่อยไปอีกเรื่อยๆ (คิดภาพง่ายๆ ถึงคนบนโลกที่แบ่งกลุ่มเป็นประเทศ แต่ละประเทศก็แบ่งเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว จนถึงบุคคล)

ในทางวิทยาศาสตร์ เราแบ่งหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตแบบกว้างที่สุดเป็นโดเมน (Domain) แต่ละโดเมนก็จะแบ่งเป็น อาณาจักร (Kingdom) เช่น อาณาจักรพืช อาณาจักรสัตว์ อาณาจักรเห็ดรา อาณาจักรแบคทีเรีย ฯลฯ ซึ่งแต่ละอาณาจักรก็จะแบ่งย่อยไปอีกเป็นไฟลัม (Phylum) เช่น ในอาณาจักรสัตว์ก็จะมีไฟลัมของฟองน้ำ ไฟลัมของหนอนตัวแบน ไฟลัมของหนอนตัวกลม ไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง เป็นต้น โดยในแต่ละไฟลัมก็จะแยกย่อยอีกเป็นชั้น (Class)  แต่ละชั้นก็จะแยกไปอีกเป็นลำดับ (Order)  ต่อด้วย วงศ์ (Family)  สกุล (Genus) และสายพันธุ์ (Species) ตามลำดับ

แต่อนุกรมวิธานเอย… จงซับซ้อนยิ่งขึ้น! ด้วยการที่บางทีมันก็จะมีคำว่า ไฟลัมย่อย (Subphylum) (ซึ่งเล็กกว่าไฟลัม), ชั้นย่อย (Subclass) (ซึ่งเล็กกว่า Class) เช่นนี้เรื่อยไป

นอกจากนั้น ยังมีคำว่า Infraphylum ที่แบ่งย่อยในไฟลัมย่อยอีกที หรือ Infraclass ที่แบ่งย่อยในชั้นย่อยอีกที รวมถึงคำว่า Superphylum, Superclass, Superfamily ซึ่งอยู่เหนือ Phylum, Class, Family ตามลำดับ

แมงกะพรุนอยู่บนโลกมานานแค่ไหนแล้ว ?

การจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ก็คือการดูจากซากฟอสซิล… แต่เอ๊ะ!… แมงกะพรุนไม่มีกระดูก จะมีฟอสซิลได้ด้วยเหรอ?

คำตอบคือได้! แต่ต้องเป็นในเงื่อนไขพิเศษเท่านั้น

อย่างเช่นในภาพข่างล่างนี้ นี่คือรอยแมงกะพรุนซึ่งถูกค้นพบที่รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา พวกมันถูกตะกอนที่มีความละเอียดสูงถมทับอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดร่องรอยของมันประทับลงบนชั้นตะกอน (คล้ายๆ กับรอยเท้าที่เราทิ้งไว้เมื่อเดินบนผืนทราย) อายุของฟอสซิลนี้คือ 505 ล้านปี หรือในยุคแคมเบรียนช่วงกลาง

Preserved Jellyfishes from the Middle Cambrian

Preserved Jellyfishes from the Middle Cambrian (credits: Paulyn Cartwright Susan L. Halgedahl … Bruce S. Lieberman)

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ซากฟอสซิลแมงกะพรุนที่เก่าแก่ที่สุด ในการค้นพบหลายปีต่อมา ที่หุบเขากลางทะเลทรายที่ชื่อ Death Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้พบพื้นที่ซึ่งเป็นสุสานใหญ่ของแมงกะพรุน โดยพบทั้งหมด 13 รอย ในพื้นที่แค่ 1 ตารางเมตร ซึ่งวัดอายุฟอสซิลได้ถึง 540 ล้านปีหรือต้นยุคแคมเบรียน

นักบรรพชีวิตให้สมมติฐานว่า แมงกะพรุนเหล่านี้ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นที่ชายหาด และด้วยความที่ยุคนั้นแทบจะยังไม่มีสัตว์บกที่จะมากินซาก ประกอบกับเป็นยุคที่พื้นทรายเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บรักษาสภาพซาก โดยสร้างชั้นฟิล์มมาเคลือบเหมือนกับซีลมันไว้ในถุง ทำให้สิ่งมีชีวิตอ่อนนุ่มอย่างแมงกะพรุนหลงเหลือร่องรอยมาถึงทุกวันนี้

Jellyfish Fossil 540 million years old. credit: Aaron Sappenfield/University of California, Riverside

ภาพจาก

เป็นตอนที่ 2 ใน 2 ตอนของเรื่อง สัตว์มีพิษอื่นๆ ในทะเล

ทากทะเลมังกรสีฟ้า (Blue Dragon, Sea Swallow, Blue Angel, Blue Glaucus)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glaucus atlanticus
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful/Super Painful

Sea Swallow, Blue Glaucus, Blue Sea Slug, Blue Ocean Slug and Lizard Nudibranch

แม้จะมีขนาดเพียงแค่ไม่กี่เซนติเมตร แต่เจ้าตัวนี้กินแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสเป็นอาหาร แล้วมันก็ขโมยเข็มพิษของเหยื่อมาเก็บไว้ที่รยางค์ของตัวเอง และด้วยพื้นที่ผิวที่น้อย ทำให้จำนวนเข็มพิษต่อพื้นที่มีความหนาแน่นมาก การสัมผัสเจ้าทากทะเลชนิดนี้ จึงอาจสร้างความเจ็บปวดได้พอๆ กับเจ้าแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส แต่ด้วยความที่มันตัวเล็กและอาศัยอยู่ที่ผิวน้ำกลางทะเลเปิด โอกาสที่จะได้รับอันตรายจากมันจึงมีไม่มากนัก

หอยเต้าปูน (Cone Snail, Cone Shell)

Family Conidae
ระดับความรุนแรงของพิษ : Deadly

หอยเต้าปูนมีมากกว่า 600 ชนิด อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล หากเผลอไปจับ มันสามารถยื่นงวง (Proboscis) ออกมายิงเข็มพิษเข้าใส่ได้ ระดับความเจ็บปวดมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงมาก แผลอาจบวม เป็นสีคล้ำ มีอาการชาลามไปทั่วตัว ไปจนถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิต ขึ้นกับชนิดหอยเต้าปูนและปริมาณพิษที่ได้รับ หากโดนพิษ ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะบางครั้งแม้ไม่เจ็บปวดขณะโดนพิษ แต่อาจมีอาการร้ายแรงถึงแก่ชีวิตในภายหลังได้

พิษของหอยเต้าปูนยังไม่มียารักษา ทำได้เพียงรักษาตามอาการ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ล้างแผลในน้ำอุ่น (ห้ามดูดแผลหรือกรีดแผล) ใช้ผ้ายืดพันเหนือแผลให้แน่น เพื่อลดการเคลื่อนที่ (แต่ในระดับที่เลือดยังไหลเวียนได้ สังเกตจากใต้บริเวณที่ถูกรัดยังมีสีเลือด) อาจใช้ไม้ดามช่วยตรงข้อต่อ คลายออกทุกๆ 10 นาที แล้วจับเวลา 90 วินาที แล้วรัดใหม่ ทำอย่างนี้ 4-6 ชั่วโมงแรก หรือจนถึงโรงพยาบาล

ข้อมูลจาก https://www.emedicinehealth.com/wilderness_cone_snail_sting/article_em.htm

หมึกสายวงฟ้า, หมึกสายบลูริง (Blue-ringed Octopus)

Hapalochlaena spp.
ระดับความรุนแรงของพิษ : Deadly

เป็นหมึกทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก วงสีฟ้าจะเข้มจัดเมื่อโกรธหรือป้องกันตัวเอง ปล่อยพิษโดยการกัด ซึ่งพิษสามารถทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเป็นอัมพาต ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ แต่หมึกชนิดนี้ (รวมทั้งหมึกโดยทั่วไป) ไม่ได้ก้าวร้าวไล่กัดคน หากเราไม่ไปจับมัน โอกาสถูกกัดก็แทบไม่มี

ดาวมงกุฎหนาม (Crown of Thorns Starfish)

Acanthaster planci
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painfu/Super Painful

Crown of Thorns

ดาวทะเลชนิดนี้เต็มไปด้วยหนามซึ่งมีพิษ หากถูกหนามตำจะสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก หากโดนพิษเป็นปริมาณมากหรือในคนที่แพ้ อาจมีอาการชา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว

วิธีปฐมพยาบาลทำโดยใช้แหนบคีบหนามออกอย่างระมัดระวัง โดยไม่ให้มีหนามหักคาใต้ผิวหนัง จากนั้นให้แช่แผลในน้ำอุ่น (อุ่นที่สุดเท่าที่จะทนได้) ประมาณ 30-90 นาที แล้วล้างด้วยสบู่ อาจล้างอีกครั้งด้วยน้ำทะเล จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่แผล โดยห้ามปิดพลาสเตอร์ที่แผล ถ้าเป็นไปได้ควรรีบพบแพทย์

หากผ่านไป 2-3 สัปดาห์ แล้วแผลมีอาการบวมแข็ง เจ็บปวดมากเวลาสัมผัส อาจเป็นไปได้ว่ามีหนามหักคาอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ให้พบแพทย์เพื่อผ่าออก

ข้อมูลจาก https://www.webmd.com/a-to-z-guides/wilderness-starfish-crown-thorns-sea-star-punctures

เม่นดอกไม้ (เม่นทะเลแต่งตัว) (Flower Urchin)

Toxopneustes pileolus
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful/Deadly/Super Painful

นี่คือพวกสวยซ่อนพิษโดยแท้ เม่นทะเลชนิดนี้ พิษของมันไม่ได้อยู่ที่หนาม แต่จะอยู่ตรงปุ่มๆ ที่ดูคล้ายกลีบดอกไม้ที่เรียกว่า pedicellaria ซึ่งซ่อนไว้ด้วยเขี้ยวและต่อมพิษ หากไปสัมผัสจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรง ในบางรายอาจมีอาการชา อ่อนแรง ระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุให้จมน้ำเสียชีวิตได้

วิธีปฐมพยาบาลคือนำผู้ป่วยขึ้นจากน้ำ และนำเศษ pedicellaria ออกจากแผลให้เร็วที่สุด แช่แผลในน้ำที่อุ่นที่สุดเท่าที่จะทนได้ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะถึงมือแพทย์

ข้อมูลจาก https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/invertebrate-venomations

ปลาแมงป่อง (Scorpionfish), ปลาหิน (Stonefish), ปลาสิงโต (Lionfish)

Family Scorpaenidae
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful/Deadly/Super Painful

ทั้ง 3 เป็นปลาในวงศ์เดียวกัน ซึ่งครีบแหลมๆ ของมันมีพิษร้ายแรง หากเผลอไปจับและถูกครีบแทง จะมีอาการเจ็บปวดสาหัส ในบางรายอาจมีอาการอ่อนแรง ปวดหัว เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน หรือหัวใจเต้นผิดปกติได้

การปฐมพยาบาลให้เริ่มที่การนำผู้ป่วยขึ้นจากน้ำ และนำครีบที่หลงเหลือหรือหักคาแผลออก แช่แผลในน้ำอุ่น 42-45 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30-90 นาที และนำส่งโรงพยาลให้เร็วที่สุด

ปลาสิงโตไม่ค่อยมีปัญหานักเนื่องจากสีสันสะดุดตา ว่ายหลบหลีกได้ง่าย แต่ปัญหาใหญ่จะอยู่ที่ปลาแมงป่องกับปลาหิน ที่พรางตัวได้เนียนสุดๆ พวกมันจะชอบเกาะนิ่งอยู่ที่พื้นทะเล มีสีสันรูปทรงดูราวกับก้อนหินไม่มีผิด โดยเฉพาะปลาหินซึ่งบางครั้งก็ชอบมุดตัวอยู่ใต้ทราย โผล่มาแค่ครีบหลังหรือหัว ยิ่งทำให้มองเห็นยาก และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่นักดำน้ำไม่ควรสัมผัสสิ่งใดๆ ใต้ทะเล แม้กระทั่งสิ่งที่ดูเหมือนก้อนหิน… เพราะที่จริงมันอาจเป็นปลาแมงป่องหรือปลาหินก็ได้ !!

ข้อมูลจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482204/

เป็นตอนที่ 1 ใน 2 ตอนของเรื่อง สัตว์มีพิษอื่นๆ ในทะเล

แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Portuguese Man’O War)

ชื่ออื่นๆ : แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส, แมงกะพรุนไฟขวดเขียว*, แมงกะพรุนหัวขวด*, Blue Bottle*
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Physalia physalis
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Siphonophorae >> Family Physaliidae

ระดับความรุนแรงของพิษ : Super Painful/Deadly

รูปร่างคล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกสยุคกลาง หรือเรือรบของโปรตุเกสในยุคล่าอาณานิคม ลำตัวเป็นทุ่นลอยอยู่บนผิวน้ำ มีสีชมพู ม่วง หรือน้ำเงิน หนวดยาวได้ถึง 30 เมตร มีพิษร้ายแรงมาก บริเวณที่สัมผัสจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน รวมทั้งอาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก และอาจถึงแก่ชีวิตได้ หากโดนพิษควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

*แต่เดิมคือชนิด Physalia utriculus แต่ปัจจุบันถูกยุบรวมเป็นชนิดเดียวกับ Physalia physalis
อ้างอิง: http://www.marinespecies.org/aphia.php?p=taxdetails&id=387269

แตนทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : —
ระดับความรุนแรงของพิษ : Slightly Painful

เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่ทำให้เรารู้สึกแสบคันจี๊ดๆ เมื่อลงทะเล พวกนี้เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมากจนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนในระยะแพลงก์ตอนของสัตว์ในไฟลัม Cnidaria ซึ่งมีเข็มพิษ เช่น ตัวอ่อนปะการัง ตัวอ่อนดอกไม้ทะเล ตัวอ่อนไฮดรอยด์ รวมไปถึงตัวอ่อนแมงกะพรุนด้วย (ในรายที่แพ้มาก อาจขึ้นผื่นแดง เป็นตุ่มคัน หรือเป็นแผลอักเสบ)

** อย่าสับสนกับ Sea Wasp ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงแมงกะพรุนกล่อง

ปะการังไฟ (Fire Coral)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millepora spp.
หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Order Anthoathecata >> Family Milleporidae
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful  

แม้จะดูภายนอกแล้วเหมือนปะการังทั่วไป แต่แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นญาติใกล้เคียงกับแมงกะพรุนมากกว่าปะการัง
ปะการังไฟมีพิษรุนแรงปานกลาง เจ็บจี๊ด ปวดแสบปวดร้อนได้พอๆ กับแมงกะพรุน และอาจยังคงเจ็บอยู่ได้หลายวันถึงหลายสัปดาห์ นอกจากความเจ็บปวดจากพิษแล้ว ผิวของกิ่งปะการังยังมีคม บาดผิวหนังให้เป็นแผลและเจ็บแสบได้ หากเผลอไปครูดถูก

ไฮดรอยด์ (Hydroid)

หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Hydrozoa >> Subclass Hydroidolina
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful

ไฮดรอยด์เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของสัตว์ในชั้นไฮโดรซัวที่ดูภายนอกคล้ายขนนกหรือก้านใบเฟิร์น มักมีสีน้ำตาลหรือขาว ยึดเกาะอยู่กับหินหรือก้อนปะการังอื่นๆ มีพิษรุนแรงปานกลางเหมือนปะการังไฟและแมงกะพรุน

ดอกไม้ทะเล (Sea Anemone)

หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Anthozoa >> Subclass Hexacorallia >> Order Actiniaria
ระดับความรุนแรงของพิษ : Painful/Super Painful/Deadly

เป็นสัตว์มีเข็มพิษชนิดหนึ่งที่เป็นญาติใกล้เคียงกับปะการัง รูปร่างเหมือนดอกไม้เกาะติดกับพื้นทะเล หนวดที่โบกสะบัดเต็มไปด้วยเข็มพิษซึ่งสร้างความเจ็บปวดได้เหมือนแมงกะพรุน

การปฐมพยาบาลทำโดยใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล โดยล้างเอาหนวดและเมือกของดอกไม้ทะเลออกให้หมด

ปะการังแข็ง (Hard Coral), ปะการังอ่อน (Soft Coral), ปากกาทะเล (Sea Pen), กัลปังหา (Sea Fan)

หมวดหมู่ : Phylum Cnidaria >> Class Anthozoa
ระดับความรุนแรงของพิษ : Slightly Painful

แม้จะไม่ได้มีพิษร้ายแรงนัก แต่ปะการังและญาติๆ เหล่านี้ ก็มีเข็มพิษเช่นกัน อีกทั้งชั้นเมือกที่หุ้มผิวของพวกมัน ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเราได้

นอกจากนั้น การที่เราจับปะการัง ยังเป็นอันตรายต่อปะการังด้วย เพราะแม้ปะการังจะดูแข็ง แต่ที่จริงผิวหนังชั้นนอกของพวกมันบางมาก การจับหรือเหยียบอาจทำให้ผิวชั้นนอกมันฉีกขาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เป็นตอนที่ 3 ใน 3 ตอนของเรื่อง รู้จักและรับมือพิษแมงกะพรุน

สิ่งสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้คือ หนวดแมงกะพรุนที่เหลือบนผิวหนังยังยิงเข็มพิษได้ ดังนั้น ผู้ที่ช่วยจะต้องระวังไม่ให้ตัวเองกลายเป็นผู้บาดเจ็บไปด้วย โดยมีขั้นตอนการปฐมพยาบาลดังนี้

1. นำหนวดแมงกะพรุนที่หลงเหลือที่ผิวหนังออกให้หมด

  • ห้ามใช้มือจับโดยตรง (อาจใช้คีม, บัตรพลาสติกแข็งเขี่ยออก หรือใช้กระดาษทิชชูซับ)
  • ทิ้งในที่ปลอดภัยและมิดชิด ที่จะไม่มีใครไปสัมผัสมันอีก
  • ห้ามขัดถูหรือขยี้บริเวณแผล

2. ราดด้วยน้ำส้มสายชู นานอย่างน้อย 30 วินาที (หรือถ้าไม่มี ให้ใช้น้ำทะเลแทน หรือจะแช่ในน้ำทะเลก็ได้)

  • ห้าม! ราดด้วยน้ำจืด, ปัสสาวะ, แอลกอฮอล์, แอมโมเนีย, น้ำอัดลม, เบกกิ้งโซดา ฯลฯ (เนื่องจากสารเหล่านั้นจะกระตุ้นให้เข็มพิษที่หลงเหลือทำงาน)
  • สำหรับแผลบริเวณดวงตา ให้ใช้ผ้าชุบน้ำส้มสายชูซับเบาๆ รอบๆ ดวงตา โดยระมัดระวังการสัมผัสกับลูกตาโดยตรง
  • ห้ามขัดถูหรือขยี้บริเวณแผล

หมายเหตุ : น้ำส้มสายชูไม่ได้ลดอาการปวด แต่จะลดการทำงานของเข็มพิษที่หลงเหลือบนผิว

หมายเหตุ2 : ในกรณีของแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Physalia sp.) ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าควรใช้น้ำส้มสายชูหรือไม่ เนื่องจากงานวิจัยหลายชิ้นมีความขัดแย้งกัน แต่งานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในปี 2017 ระบุว่า น้ำส้มสายชูช่วยยับยั้งการทำงานของเข็มพิษที่หลงเหลือบนผิวได้

3. หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ช่วยหายใจ หากไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจ

  • เรียกรถพยาบาล โทร. 1669

4. ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ ให้มากที่สุดเพื่อลดการทำงานของเข็มพิษที่ยังหลงเหลือ

5. หากมีครีม Safe Sea ให้พ่นหรือทาลงที่แผลได้ (ห้ามใช้มือเปล่าทา และระวังอย่าให้เป็นการถู)

แม้ว่า Safe Sea จะไม่ได้ช่วยแก้ไขหลังจากถูกพิษแล้ว แต่ด้วยคุณสมบัติของครีมที่ช่วยหยุดยั้งการทำงานของเข็มพิษโดยตรง ทำให้สามารถป้องกันผู้ป่วยจากเข็มพิษที่หลงเหลือบนผิวหนังได้

6. ในกรณีที่อาการรุนแรง เช่น ปวดมาก กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก ใจสั่น หายใจขัด หน้าซีด ให้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้อยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์

เป็นตอนที่ 2 ใน 3 ตอนของเรื่อง รู้จักและรับมือพิษแมงกะพรุน

ระดับความร้ายแรงของพิษในแมงกะพรุนแต่ละชนิดขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สารประกอบในน้ำพิษ ลักษณะและกลไกของเข็มพิษ ไปจนถึงความยาวของเข็มพิษ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าแมงกะพรุนที่มีเข็มพิษยาวจะสร้างความเจ็บปวดได้มากกว่าพวกที่มีเข็มพิษสั้น ทั้งนี้ ความร้ายแรงของพิษยังขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับ และระดับความแพ้ของแต่ละคนด้วย

แมงกะพรุนที่พิษอ่อน

อาการมีตั้งแต่แทบไม่รู้สึกอะไร ไปจนถึงแสบๆ คันๆ

แมงกะพรุนหอม (Mastigias sp.)

แมงกะพรุนลอดช่อง (Lobonema smithi)

แมงกะพรุนหนัง (Rhopilema sp.)

แมงกะพรุนพระจันทร์ (Aurelia aurita)

แมงกะพรุนลูกปืนใหญ่ (Stomolophus meleagris)

แมงกะพรุนที่พิษปานกลาง

ทำให้ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่สัมผัส เป็นรอยแดง บวม เป็นผื่น ส่วนคนที่แพ้อาจมีความรุนแรงมากกว่านั้นได้

แมงกะพรุนไฟ (Chrysaora spp.)

แมงกะพรุนไฟสีชมพู (Pelagia spp.)

แมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรง

หากโดนพิษแมงกะพรุนกลุ่มนี้ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากอาจมีอันตรายถึงชีวิต

1. แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish)

Carybdea sivickisi

Chiropsoides buitendiijki

Tripedalia cystophora

2. แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Portuguese Man’o War: Physalia spp.)**

ถึงแม้ชื่อของมันจะมีคำว่าแมงกะพรุน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ไซโฟโนฟอร์’

Portuguese man-o-war (Physalia spp.)

Physalia physalis

ข้อมูล

ภาพ: DMCR, Wikipedia

เป็นตอนที่ 1 ใน 3 ตอนของเรื่อง รู้จักและรับมือพิษแมงกะพรุน

แมงกะพรุน ปะการัง ดอกไม้ทะเล ไฮดราและไฮดรอยด์ ล้วนเป็นสัตว์ในไฟลัม Cnidaria ซึ่งเอกลักษณ์ของสัตว์ในไฟลัมนี้คือมีเข็มพิษ ดังนั้น แมงกะพรุนทุกชนิดจึงมีพิษ เพียงแต่ความรุนแรงของพิษจะต่างกันไปในแต่ละชนิด จำนวนพิษที่ได้รับ รวมถึงระดับความแพ้ของคน โดยมีตั้งแต่แค่แสบๆ คันๆ ไปจนถึงต้องหามส่งโรงพยาบาล

กลไกการยิงเข็มพิษของแมงกะพรุน

 

เป็นตอนที่ 2 ใน 2 ตอนของเรื่อง Jellyfish Bloom: ปรากฏการณ์แมงกะพรุนสะพรั่ง

1. เมื่อแมงกะพรุน Shutdown โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แม้จะไม่ได้ตั้งใจประท้วง แต่พวกมันก็ทำให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งต้องหยุดชะงัก

ปกติแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องดูดน้ำทะเลเข้าเพื่อหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ แต่ในช่วงที่เกิดการบลูมของแมงกะพรุน พวกมันมักจะทำให้ท่ออุดตัน จนโรงงานต้องหยุดระบบเพื่อกำจัดพวกมัน ซึ่งมากเป็นตันๆ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ในช่วงปีหลังๆ มานี้ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าแต่ก่อนมาก เช่น

ปี 2005 อุดตันท่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สวีเดน

ปี 2008 อุดตันท่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ปี 2011 ปีนี้ปีเดียวอุดตันท่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สก็อตแลนด์ ญี่ปุ่น อิสราเอล อเมริกา รวมถึงโรงงานทำน้ำจืดที่อิสราเอลด้วย

ปี 2013 อุดตันท่อโรงไฟฟ้าที่สวีเดนอีกครั้ง

ปี 2017 อิสราเอลโดนอีกครั้ง

ปัญหานี้หนักหนาสาหัสขนาดที่ว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพยากรณ์ความเสี่ยงล่วงหน้า โดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สร้างโมเดลกระแสน้ำ ประกอบกับช่วงเวลาการบลูมของแมงกะพรุน แต่ก็ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องพัฒนาต่อไป

2. แมงกะพรุนยักษ์ อุดตันอวนชาวประมงญี่ปุ่น

เมื่อชาวประมงออกเรือไปจับปลา แต่สิ่งที่ติดอวนขึ้นมา กลับเป็นแมงกะพรุนขนาดเท่าตู้เย็น

นี่คือแมงกะพรุนโนะมุระในน่านน้ำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา การบลูมของแมงกะพรุนชนิดนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าในอดีตมาก โดยเกิดขึ้นแทบทุกปี สร้างความเสียหายให้ชาวประมงอย่างสาหัส ทำให้อวนขาด ปลาตาย วิถีชุมชนชายฝั่งพินาศ สร้างความเสียหายนับพันล้านเยน

3. ทำฟาร์มแซลมอนขาดทุนยับ

ปี 2007 ฟาร์มแซลมอนที่ไอร์แลนด์สูญเสียปลาแซลมอนที่เลี้ยงไว้นับแสนตัว เนื่องจากแมงกะพรุนตัวจิ๋วที่ชื่อ Mauve Stingers หลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงแซลมอน โดยในพื้นที่บ่อ 26 ตารางกิโลเมตร และลึก 11 เมตร เต็มไปด้วยแมงกะพรุนหนาแน่นนับพันล้านตัว เจ้าของได้แต่ยืนมองความหายนะโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่เกิดกับฟาร์มแซลมอน

ปี 2009 ฟาร์มปลาที่ทูนิเซียก็พบเหตุการณ์แมงกะพรุนบุกจนเสียหายเช่นกัน

ปี 2014 ที่สก็อตแลนด์ แซลมอน 300,000 ตัว ต้องตายเพราะแมงกะพรุน

ปี 2015 ฟาร์แซลมอนที่นอร์เวย์ต้องเผชิญการตายครั้งใหญ่ของแซลมอนเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2002

ปี 2018 รัฐแทสเมเนียของออสเตรเลียก็เผชิญเหตุการณ์นี้จนเสียหายราว 10 ล้านดอลล่าร์

4. เรือบรรทุกเครื่องบินต้องหยุดเดินเครื่อง เพราะแมงกะพรุนอุดตัน

ปี 2006 เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดยักษ์ของอเมริกาต้องดับเครื่องกลางทะเล ด้วยกองทัพผู้บุกรุกที่เรียกว่า ‘แมงกะพรุน’ ไปอุดตันตัวกรองและท่อดึงน้ำเข้าเพื่อหล่อเย็นเครื่องยนต์ ซึ่งการจัดการนำพวกมันออกและทำความสะอาดเมือกอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงไปจนถึงเป็นวัน

ไม่ใช่แค่อเมริกาเท่านั้น แต่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน จนถึงขนาดวิศวกรจีนประดิษฐ์ ‘เครื่องสับแมงกะพรุน’ ออกมา โดยมีตาข่ายดักแมงกะพรุนและส่งไปยังใบมีดที่จะสับพวกมันเป็นชิ้นๆ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังมีปัญหา เนื่องจากอาจสร้างผลกระทบต่อสัตว์อื่นๆ นอกจากนั้น ก็ยังมีข้อกังวลว่า หนวดพิษของแมงกะพรุนอาจถูกพัดเข้าชายหาด เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงหากแมงกะพรุนที่กำลังท้องเกิดติดตาข่าย มันจะปล่อยไข่ ซึ่งทำให้เกิดลูกหลานมากกว่าเดิม

5. ทำลายการท่องเที่ยว

การบลูมของแมงกะพรุนตามแนวชายฝั่ง ยังสร้างผลกระทบมหาศาลต่อการท่องเที่ยว

ในบางปี ตลอดแนวชายฝั่ง 300 กิโลเมตร ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เต็มไปด้วยฝูงแมงกะพรุนนับล้าน ทำให้คนบาดเจ็บแต่ละปีมีนับแสนราย ชายหาดหลายแห่ง เช่น ออสเตรเลีย, ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต้องปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าในบางช่วง เนื่องจากฝูงแมงกะพรุนกล่องยึดครองผืนน้ำ ส่วนชายหาดหลายแห่งก็ต้องกั้นตาข่ายในทะเลเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ว่ายน้ำ

แหล่งข้อมูล:

เป็นตอนที่ 1 ใน 2 ตอนของเรื่อง Jellyfish Bloom: ปรากฏการณ์แมงกะพรุนสะพรั่ง

Jellyfish Bloom คือปรากฏการณ์ที่แมงกะพรุนรวมตัวกันอย่างหนาแน่น ซึ่งในบางกรณีอาจหนาแน่นซะจนมีแมงกะพรุนมากกว่าน้ำซะอีก โดยครั้งหนึ่งเคยมีบันทึกไว้ว่าบริเวณที่มีแมงกะพรุนหนาแน่นนี้ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งมากกว่า 100 ไมล์ !!

โดยทั่วไป การบลูมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตตามธรรมชาติของแมงกะพรุน เนื่องจากแมงกะพรุนในระยะ Polyp (ที่เป็นหน่อเกาะกับพื้น และทำการโคลนนิ่งตัวเอง) มักจะ แยกตัวออกมากลายเป็นระยะ Medusa (ที่ล่องลอยกลางน้ำ) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ผืนน้ำบริเวณนั้นเต็มไปด้วยแมงกะพรุนจำนวนมาก ซึ่งสัตว์ที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก เช่น เต่ามะเฟือง ก็มีวิวัฒนาการมาให้เหมาะกับวงจรแบบนี้ คือมีหลอดอาหารที่ยาวเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้กินแมงกะพรุนครั้งละมากๆ ได้

ในขณะเดียวกัน การกระทำของมนุษย์ก็ส่งผลเอื้อต่อการเพิ่มจำนวนของแมงกะพรุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้แมงกะพรุนเติบโตดี การประมงเกินขนาดที่กำจัดปลาคู่แข่งที่แย่งอาหารแมงกะพรุน ขยะพลาสติกที่ฆ่าผู้ล่าแมงกะพรุน รวมถึงน้ำเสียที่ทำให้ปลาอื่นตาย เหลือไว้แต่แมงกะพรุนครอบครองอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่า จำนวนแมงกะพรุนทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากขาดข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแมงกะพรุนหลายชนิดอยู่กลางทะเลเปิดและในน้ำลึก ทำให้การติดตามประชากรเป็นไปได้ยาก แต่หากพูดถึงในระดับพื้นที่ ชายฝั่งหลายแห่งมีการยืนยันถึงการเพิ่มขึ้นของแมงกะพรุนอย่างชัดเจน และหลายแห่งก็เพิ่มขึ้นในระดับที่สร้างปัญหาจนกลายเป็นวาระแห่งชาติ

เป็นตอนที่ 11 ใน 10 ตอนของเรื่อง นวัตกรรมยุคใหม่ แรงบันดาลใจจากแมงกะพรุน

อันที่จริง ถ้าพูดให้ถูกคือไม่ใช่แมงกะพรุน แต่เป็น ‘ไซโฟโนฟอร์’

ย้อนกลับไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเทคโนโลยีโซนาร์มีความสำคัญมากในการตรวจจับเรือดำน้ำของศัตรูที่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ แต่หลายครั้งความแปลกประหลาดเกิดขึ้น เมื่อสัญญาณจากโซนาร์ที่สะท้อนกลับมา ทำให้ดูเหมือนว่าพื้นทะเลดันอยู่ตื้นกว่าในแผนที่ อีกทั้งความลึกนี้ยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในแต่ละเวลาอีก… หรือว่าจะเป็นฝูงปลา ? แต่เมื่อมีการทดลองโยนอวนลงไป สิ่งที่ได้กลับมาคือความว่างเปล่า เสมือนมีพื้นปลอมๆ (False Bottom) ที่สัญญาณโซนาร์ไม่สามารถทะลุผ่านได้ ว่าแต่มันคืออะไร?

จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนตรวจเจอพื้นที่อยู่ตื้นกว่าความเป็นจริงนี้ จึงลงเรือดำน้ำไปดู สิ่งที่เขาพบคือไซโฟโนฟอร์สายพันธุ์ Nanomia bijuga กลุ่มใหญ่ ซึ่งเหตุผลที่มันปิดกั้นคลื่นโซนาร์ได้ ก็เพราะส่วนทุ่นของมัน (ที่ทำหน้าที่คล้ายถุงลมของปลา) มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1 มิลลิเมตร ซึ่งสั่นพ้องกับคลื่นโซนาร์พอดี ทำให้คลื่นโซนาร์ไม่สามารถทะลุผ่านลงไปข้างใต้ได้

ผลก็คือ ฝ่ายที่รู้ความลับนี้ก็ใช้วิธีแล่นเรือดำน้ำไปข้างใต้ฝูงไซโฟโนฟอร์ เพียงเท่านี้ คลื่นโซนาร์จากด้านบนก็ตรวจจับไม่ได้แล้ว !

ข้อมูลจาก https://www.nature.com/scitable/blog/creature-cast/hiding_submarines_beneath_jellyfish