เป็นตอนที่ 6 ใน 6 ตอนของเรื่อง ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 1991 กระสวยอวกาศโคลัมเบียพุ่งทะยานขึ้นสู่อวกาศ โดยมีแมงกะพรุนพระจันทร์ (Moon Jelly, Aurelia aurita) ในระยะ Polyp และระยะว่ายน้ำขั้นเริ่มต้น (Ephyra) จำนวน 2,478 ตัว ถูกส่งขึ้นไปด้วย

แมงกะพรุนอวกาศกลุ่มนี้ คือตัวแทนของการทดลองเพื่อที่จะตอบคำถามว่า “สภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง (microgravity) มีผลอย่างไรต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนที่เราจะส่งมนุษย์ไปอวกาศนานๆ รวมทั้งปัญหาสำคัญที่ว่า เราสามารถมีลูกในอวกาศได้หรือได้ เด็กจะเติบโตอย่างปกติไหม แล้วจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่าหากกลับมาบนโลก ?

แม้ว่าแมงกะพรุนจะต่างจากพวกเราอย่างมาก แต่พวกมันมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายเรา นั่นคือระบบตรวจวัดแรงโน้มถ่วง (gravity receptor) แต่เป็นในเวอร์ชันที่เรียบง่ายกว่ามาก มันคือระบบที่ทำให้แมงกะพรุนบอกความแตกต่างระหว่างด้านบนกับด้านล่างได้ โดยมันจะมีผลึกแคลเซียมซัลเฟต (Statoliths) ในกระเปาะรอบๆ ขอบร่ม (bell margin) ซึ่งพอเวลามันเอียงตัว ผลึกนี้ก็จะกลิ้ง ขนที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณไปยังเส้นประสาท ซึ่งคล้ายกับระบบที่อยู่ในหูชั้นในของคนเรา

กลับมาที่การทดลองแมงกะพรุนอวกาศกันต่อ การทดลองนี้เริ่มขึ้นโดยการฉีดสารเคมีกระตุ้นให้ Polyp พัฒนาเป็น Ephyra ซึ่งบางกลุ่มจะเป็น Ephyra ตั้งแต่ก่อนยานออก ส่วนอีกกลุ่มเป็นเมื่ออยู่บนอวกาศแล้ว จากนั้นพวกเขาก็จะทำการบันทึกภาพและข้อมูลต่างๆ เช่น ลักษณะภายนอก ท่าทางการว่ายน้ำ จำนวนผลึกแคลเซียมซัลเฟต เพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่อยู่บนโลก

นอกจากนั้น พวกเขายังปล่อยให้แมงกะพรุนที่เป็นตัวเต็มวัยในอวกาศได้ขยายพันธุ์ด้วย ซึ่งทำให้ในช่วงนั้น เรามีแมงกะพรุนโคจรรอบโลกถึง 60,000 ตัว!

สิ่งที่นักวิจัยพบจากการทดลองนี้คือ พวกมันเจริญเติบโตได้อย่างปกติและว่ายน้ำได้ เพียงแต่เมื่อผ่านไปราว 9 วัน พวกที่เติบโตมาแล้วจากโลก จะสูญเสียผลึกแคลเซียมซัลเฟตไปเป็นจำนวนมาก และมีท่าว่ายแปลกๆ โดยมักว่ายวนเป็นวงกลม

และเมื่อแมงกะพรุนกลุ่มนี้กลับถึงโลก พวกบางส่วนไม่สามารถว่ายน้ำได้เหมือนเพื่อนแมงกะพรุนที่อยู่บนโลกทั่วไป เนื่องจากระบบตรวจวัดแรงโน้มถ่วงเกิดความผิดเพี้ยน… แต่ไม่นานพวกมันส่วนใหญ่ก็สามารถกลับคืนสู่การว่ายปกติได้

อ้างอิง

  • https://er.jsc.nasa.gov/seh/From_Undersea_To_Outer_Space.pdf
  • https://www.nytimes.com/2011/06/07/science/07jellyfish.html
  • https://www.youtube.com/watch?v=FvjVKAAvIn8
เป็นตอนที่ 5 ใน 6 ตอนของเรื่อง ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

แม้แมงกะพรุนจะได้ชื่อว่าเป็นแพลงก์ตอน – คือใช้ชีวิตล่องลอยตามกระแสน้ำ – แต่พวกมันก็มีความสามารถในการควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ได้เช่นกัน ทั้งซ้ายขวาขึ้นลง แถมบางชนิดยังสามารถว่ายทวนกระแสอ่อนๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องที่มีบันทึกไว้ว่า สามารถว่ายได้ด้วยความเร็วถึง 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนแมงกะพรุนพระจันทร์ที่ประจำถิ่นในอ่าวแห่งหนึ่ง ก็มีงานวิจัยพบว่า มันสามารถขี่คลื่นเพื่อกลับเข้าอ่าวในช่วงเวลาที่กระแสน้ำด้านล่างพัดออกจากอ่าวได้

แม้จะเคลื่อนที่ไม่เร็วนัก แต่การเคลื่อนที่ของแมงกะพรุนก็ถือเป็นหนึ่งในระบบขับเคลื่อนที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในอาณาจักรสัตว์ เนื่องจากใช้พลังงานน้อยมากเมื่อเทียบกับแรงขับเคลื่อนที่ได้

พวกมันใช้วิธีขยายและหดกล้ามเนื้อลำตัว พองหนอ-น้ำเข้า ยุบหนอ-น้ำออก เกิดแรงผลักดันตัวมันไปข้างหน้า

เป็นตอนที่ 4 ใน 6 ตอนของเรื่อง ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

วงจรชีวิตของแมงกะพรุน หากพูดให้นึกภาพง่ายๆ ให้นึกถึงผีเสื้อที่มีการกลายร่างจากไข่ เป็นตัวหนอน เป็นดักแด้ จนเข้าสู่ตัวเต็มวัย… แมงกะพรุนก็มีหลักการคล้ายๆ กัน คือวัยเด็กของมัน หน้าตาไม่ได้เหมือนพ่อแม่ แต่วงจรชีวิตแมงกะพรุนมีความล้ำกว่าตรงที่ว่า ไข่ที่ได้รับการผสม 1 ฟอง สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นแมงกะพรุนได้หลายตัว !

Picture of reproduction of jellyfish

Picture of reproduction of jellyfish

วงจรชีวิตของแมงกะพรุนทั่วๆ ไป เริ่มจากแมงกะพรุนตัวผู้และตัวเมียปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาในมวลน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะ ‘Planula’ ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนตัวจิ๋วลอยละล่องตามกระแส มันจะมีชีวิตราว 2-3 วัน แล้วก็เริ่มหาที่ลงเกาะบนพื้นทะเล

จากนั้นมันก็จะเติบโตและทำการโคลนนิ่งตัวเองด้วยการแตกหน่อ โดยเกาะติดอยู่ที่พื้นทะเล ระยะนี้เรียกว่า ‘Polyp’ เมื่อมันเติบโตขึ้นจนถึงระยะที่เหมาะสม แต่ละหน่อก็จะสละยานแม่ แยกตัวออกเป็นอิสระ กลายเป็นแมงกะพรุนน้อยๆ มากมายล่องลอยในมวลน้ำ ช่วงแรกๆ หน้าตาจะคล้ายกลีบดอกไม้แฉกๆ เรียกระยะ ‘Ephyra’ ก่อนจะเติบโตจนหน้าตาเป็นแมงกะพรุนแบบที่เราคุ้นเคยกัน ที่เรียกว่าระยะ ‘Medusa

แล้ว Medusa นี้ก็จะกลายเป็นขุ่นพ่อขุ่นแม่แมงกะพรุน ปล่อยไข่และสเปิร์มเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของวงจรชีวิตแมงกะพรุนคือ แม้ว่า Medusa แต่ละตัว จะแยกตัวผู้กับตัวเมียชัดเจน แต่ในระยะที่มันเป็น Polyp มันสามารถโคลนนิ่งตัวเองออกมาได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย หรือพูดอีกอย่างว่า จากไข่และสเปิร์มหนึ่งคู่ จะได้ผลผลิตเป็นแมงกะพรุนที่มี DNA เหมือนกันหลายตัวที่มีทั้งตัวผู้และตัวเมียปะปนกัน!

อย่างไรก็ตาม วิธีและรูปแบบการแตกหน่อของแมงกะพรุนแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันมาก บางชนิดช่วงแตกหน่อจะดูเหมือนจานซ้อนกันเป็นชั้นๆ บางชนิดแตกหน่อออกด้านข้าง บางชนิดไม่มีระยะ Polyp แต่เป็น Medusa เองที่ทำหน้าที่แตกหน่อ อ่านต่อ

ส่วนวิธีผสมพันธุ์ของแมงกะพรุนแต่ละชนิด ก็มีความแตกต่างกันมากมาย บางชนิดมีสองเพศในตัวเดียว บางชนิดไข่ได้รับการผสมภายในตัวแม่และมันก็อุ้มท้องด้วย อ่านต่อ

อ้างอิง : หนังสือ Jellyfish: A Natural History (ผู้เขียน Lisa-ann Gershwin)

เป็นตอนที่ 3 ใน 6 ตอนของเรื่อง ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

รวดเร็วยิ่งกว่ามือปืนสไนเปอร์ ก็คือการยิงเข็มพิษของแมงกะพรุนนี่แหละ

เข็มพิษแมงกะพรุนทำงานด้วยระบบสัมผัส มีอะไรไปแตะปุ๊บ เข็มพิษจะยิงทันที แมงกะพรุนบางชนิดยิงเข็มพิษที่ได้รวดเร็วมากโดยใช้เวลาน้อยกว่า 0.01 วินาที คิดเป็นความเร่งถึง 40,000g – นี่คือหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางชีวภาพที่เร็วที่สุด และแม้ว่าแมงกะพรุนจะตายไปแล้ว แต่เข็มพิษก็ยังยิงได้ แม้กระทั่งหนวดที่เหลืออยู่เส้นเดียว ก็ยิงเข็มพิษได้เช่นกัน

Diagram of a cnidocyte ejecting a nematocyst

Diagram of a cnidocyte ejecting a nematocyst

หากนำหนวดแมงกะพรุนไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดู จะพบว่าหนวดของมันซ่อนไว้ด้วยเซลล์เข็มพิษ (Cnidocyte) มากมาย โดยในแต่ละเซลล์นั้นจะมีแคปซูลพิษ (Nematocyst) ซึ่งในแคปซูลแต่ละอันนั้นจะบรรจุด้วยน้ำพิษ (venom) และมีท่อนำพิษ (Nematocyst tube) ที่หน้าตาคล้ายฉมวกปลายแหลมขดอยู่

ที่ปลายเซลล์เข็มพิษจะมีขนเล็กๆ ทำหน้าที่คล้ายยามเฝ้าประตู เมื่อใดก็ตามที่ขนนี้ได้รับการสัมผัส แม้จะเพียงน้อยนิด ก็จะกระตุ้นให้ท่อนำพิษที่หน้าตาเหมือนฉมวกพุ่งออกมาทิ่มแทงเหยื่อ พิษที่ถูกเก็บอยู่ทั้งในฉมวกและในแคปซูลก็จะถูกปล่อยออกมา โดยฉมวกนี้ยังมีหนามรอบๆ เพื่อไว้ยึดยึดกับผิวเหยื่อไม่ให้หลุดด้วย!

พื้นที่เพียงหนึ่งตารางเซนติเมตรบนหนวดแมงกะพรุน อาจมีเซลล์เข็มพิษกระจายอยู่ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนต่อม ตามแต่ชนิดของแมงกะพรุน ดังนั้น หนวดแต่ละเส้นอาจมีเซลล์เข็มพิษอยู่หลักแสนถึงหลักล้านเซลล์เลยทีเดียว

แม้ว่าที่อยู่ของเซลล์เข็มพิษหลักๆ จะอยู่ที่หนวด แต่ในแมงกะพรุนบางชนิด เข็มพิษยังซ่อนอยู่ในแขนรอบปาก รูปาก และมีไม่กี่ชนิดที่มีเข็มพิษที่บริเวณร่มด้วย โดยเซลล์เข็มพิษเหล่านี้มีรูปร่างต่างๆ กัน และต่างออกไปตามสายพันธุ์ – หากเราอยากระบุชนิดแมงกะพรุนผู้ต้องหาที่ทำให้เราเจ็บแสบ วิธีการก็ไม่ยาก เพียงแค่ใช้สก็อตเทปแปะบริเวณผิวหนังที่ถูกแมงกะพรุนสัมผัส (ที่แห้งแล้ว) และลอกออก เราก็จะได้ตัวอย่างเข็มพิษเอาไปตรวจได้

ส่วนเหตุผลที่แมงกะพรุนไม่ยิงเข็มพิษใส่ตัวเอง เพื่อนร่วมสายพันธุ์เดียวกัน หรือวัสดุที่ไม่มีชีวิต ก็เพราะมันมีระบบตรวจจับสารเคมี (Chemoreceptor) เป็นตัวตัดสินว่าจะต้องยิงเข็มพิษหรือไม่นั่นเอง

อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (ผู้เขียน Lisa-ann Gershwin)

ภาพ: https://manoa.hawaii.edu/exploringourfluidearth/biological/invertebrates/phylum-cnidaria/activity-nematocysts

เป็นตอนที่ 2 ใน 6 ตอนของเรื่อง ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

เราทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับลำตัวใสๆ ของแมงกะพรุน… แต่เคยสงสัยไหมว่า มีอะไรอยู่ข้างในวุ้นใสนั้น?

เนื้อเยื่อเจลาติน

แมงกะพรุนประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ตรงกลางระหว่างชั้นทั้งสอง คือสารที่มีลักษณะคล้ายวุ้น เรียก Mesoglea ซึ่งประกอบด้วยน้ำถึง 95% ทำให้มันมีความหนาแน่นใกล้เคียงกับน้ำ จึงลอยตัวในน้ำได้อย่างไม่ต้องใช้พลังงานอะไรมากมาย

Anatomy picture of a true jellyfish

Anatomy picture of a true jellyfish

ระบบย่อยอาหาร

บอกได้เลยว่าเป็นระบบที่เราไม่อยากเลียนแบบแน่ๆ เพราะนี่เป็นระบบย่อยอาหารขั้นพื้นฐาน คือมีโพรง (Gastrovascular Cavity) ไว้ย่อย และรูเปิดหนึ่งรูที่ทำหน้าที่เป็นทั้ง ‘ปาก’ และ ‘ตูด’ ในรูเดียวกัน กินทางไหน ก็ขับถ่ายออกทางนั้นจ้า… อึ๋ยยย~~

อวัยวะสืบพันธุ์ (Gonad)

ส่วนใหญ่จะมีเพศเดียวในหนึ่งตัว ยกเว้นบางชนิดที่มี 2 เพศในตัวเดียว

ในกลุ่มแมงกะพรุนแท้ (Scyphozoa) ต่อมเพศของมันคือสิ่งที่เราเห็นเป็นกลีบๆ เมื่อมองจากด้านบนของร่ม

ส่วนแมงกะพรุนกล่อง ต่อมเพศจะอยู่ตามแนวเส้นกลางลำตัว 4 ด้าน

ระบบประสาท

แม้จะไม่มีสมอง แต่แมงกะพรุนก็รับรู้โลกได้ผ่านทางเส้นประสาทที่กระจายอยู่ทั่วตัว โดยมีจุดศูนย์รวมของอวัยวะรับสัมผัสที่เรียกว่า Rhopalium กระจายอยู่รอบๆ ขอบร่ม (พหูพจน์ = Rhopalia)

The visual system of the cubozoan

The visual system of the cubozoan

ในแต่ละ Rhopalium จะประกอบด้วยเซลล์รับสัมผัสต่างๆ ดังนี้

  • เซลล์รับแสง (Eyespots) แมงกะพรุนพระจันทร์จะมี 2 eyespots ในแต่ละ Rhopalium ซึ่งแม้จะยังไม่เห็นเป็นภาพ แต่ก็พอรับรู้ความมืดความสว่างได้
    ในขณะที่แมงกะพรุนกล่อง จะมีถึง 6 ตา ในแต่ละ Rhopalium ทำให้มันมีตารวมทั้งหมด 24 ตา !! แถมเซลล์เหล่านี้ก็พัฒนามาก จนมีข้อสันนิษฐานว่ามันสามารถเห็นภาพและสีได้ รวมถึงบางชนิดสามารถจดจำภาพแนวป่าชายเลนและว่ายเข้าหาเพื่อไปกินอาหารในนั้นได้
  • ระบบรักษาสมดุลร่างกาย (Statoliths) ทำหน้าที่คล้ายหูชั้นในของเรา คือรักษาสมดุลการเคลื่อนไหว
  • อื่นๆ : แมงกะพรุนบางชนิด จะมีมิเตอร์วัดความเค็มของน้ำทะเล เพื่อหลีกหนีช่วงน้ำจืดไหลลงอ่าวเยอะๆ ได้ บางชนิดสามารถรับรู้ความสั่นสะเทือน การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หรือสารเคมีรอบๆ ตัวได้ ซึ่งทำให้มันสามารถแยกแยะว่า แมงกะพรุนข้างๆ มัน คือเพื่อนร่วมสายพันธุ์หรือศัตรู
ข้อมูล
  • https://www.juliberwald.com/blog/a-jellyfish-anatomy-primer-by-popular-demand/
  • หนังสือ Jellyfish: A Natural History (ผู้เขียน Lisa-ann Gershwin)
  • https://www.cell.com/current-biology/pdf/S0960-9822(13)00359-X.pdf
  • http://cronodon.com/BioTech/Jellyfish.html
เป็นตอนที่ 1 ใน 6 ตอนของเรื่อง ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

แม้ว่าจะไม่มีสมอง ไม่มีปอด ไม่มีหัวใจ ไม่มีเลือด แต่ซากฟอสซิลแมงกะพรุนดึกดำบรรพ์ยืนยันว่าพวกมันมีชีวิตบนโลกนี้มานานกว่า 500 ล้านปีแล้ว แถมรอดพ้นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) มาแล้วทั้ง 5 ครั้ง… มหาวิบัติที่กวาดล้างสิ่งมีชีวิตไปราว 99% ไม่อาจทำอะไรแมงกะพรุน

Preserved Jellyfishes from the Middle Cambrian

Preserved Jellyfishes from the Middle Cambrian (credits: Paulyn Cartwright Susan L. Halgedahl … Bruce S. Lieberman)

ร่างกายของมันคือความเรียบง่ายที่เปี่ยมประสิทธิภาพ ในความใสของมันมีข้อดีมากมาย อย่างแรกคือช่วยในการพรางตัวท่ามกลางทะเลเปิดที่ไม่มีอะไรกำบัง นอกจากนั้น การที่มันไม่ต้องสร้างเม็ดสีก็ถือเป็นการประหยัดต้นทุน ทำให้มันก็สามารถนำพลังงานส่วนนี้ไปใช้ในการพัฒนาส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ส่วนการหายใจนั้น ก็ไม่ต้องการระบบหลอดเลือดใดๆ เพราะผิวมันบางมาก ออกซิเจนจึงซึมผ่านเนื้อเยื่อได้โดยตรง

นอกจากนั้น พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกๆ ที่วิวัฒนาการระบบประสาทขึ้นมา แม้จะยังเป็นขั้นพื้นฐานมากๆ ไม่ได้มีสมองหรือศูนย์กลางระบบประสาท แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้มันรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น แสง สารเคมี การสั่นสะเทือน และสามารถตอบสนองได้

เป็นตอนที่ 3 ใน 3 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนคืออะไร?

สองคำนี้ เป็นคำที่ชวนให้งุนงงสับสน เพราะแม้คำแปลตรงตัวจะเหมือนกัน แต่ความหมายดันหมายถึงคนละสิ่งกัน

แตนทะเล

เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่ทำให้เรารู้สึกแสบคันจี๊ดๆ เมื่อลงทะเล พวกนี้เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมากจนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนในระยะแพลงก์ตอนของสัตว์ในไฟลัม Cnidaria ซึ่งมีเข็มพิษ เช่น ตัวอ่อนปะการัง ตัวอ่อนดอกไม้ทะเล ตัวอ่อนไฮดรอยด์ รวมไปถึงตัวอ่อนแมงกะพรุนด้วย

Sea Wasp

ในภาษาอังกฤษ หมายถึงแมงกะพรุนกล่องสายพันธุ์ Chironex fleckeri

อ้างอิง
เป็นตอนที่ 2 ใน 3 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนคืออะไร?

สิ่งที่ดูคล้ายแมงกะพรุน แต่ไม่ใช่แมงกะพรุน … แต่บางตำราก็นับว่ามันเป็นแมงกะพรุนเช่นกัน

Jellyfish Related - Taxonomy Chart

Jellyfish Related – Taxonomy Chart

 

ไซโฟโนฟอร์ (Siphonophore)

อยู่ในคลาสเดียวกับแมงกะพรุน Hydromedusa, ไฮดราและไฮดรอยด์ แต่สิ่งที่ทำให้พวกมันแตกต่างจากแมงกะพรุนมากคือ ภายในหนึ่งร่างที่เราเห็น ไม่ใช่แค่ชีวิตเดียว!! แต่คือหลายชีวิตประกอบกันเป็น colony โดย ‘แต่ละชีวิต’ ทำหน้าที่เป็น ‘หนึ่งอวัยวะ’ เช่น ชีวิตแรกทำหน้าที่เป็นระบบย่อยอาหาร อีกชีวิตทำหน้าที่เป็นระบบสืบพันธุ์ อีกชีวิตทำหน้าที่เป็นเซลล์เข็มพิษ เป็นต้น ซึ่งทุกชีวิตเหล่านั้นต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกจากกันไม่ได้

Siphonophore

สัตว์จำพวก Siphonophore อยู่ในกลุ่ม Hydromedusa, Phylum Cnidaria

 

หวีวุ้น (Comb Jelly)

สำหรับมนุษย์แล้ว น้องหวีวุ้นถือว่าเป็นสัตว์ ‘สวยใส ไร้พิษสง’ พวกเขาไม่มีเข็มพิษ และอยู่คนละไฟลัมกับแมงกะพรุน นั่นคือไฟลัม Ctenophora จุดเด่นคือมีเส้นขนเล็กๆ (cilia) เรียงกัน 8 แถว คล้ายซี่หวี โบกสะบัดพาพัดมันเคลื่อนที่ หลายชนิดมีสีรุ้งเหลือบประกายตามแนวหวี บางชนิดรูปทรงคล้ายวอลนัท บางชนิดตัวแบนคล้ายริบบิ้น บางชนิดมีหนวด 2 เส้น ที่มีกระเปาะกาวที่พุ่งออกมาดักเหยื่อตัวเล็กๆ กิน

Comb Jelly

หวีวุ้น (Comb Jelly)

 

ซาล์ป (Salp) หรือตัวอ่อนของเพรียงหัวหอม (Planktonic Tunicate)

ถึงแม้จะดูเป็นวุ้นใสๆ ลอยในน้ำเหมือนแมงกะพรุน แต่ที่จริงแล้วพวกมันมีลักษณะทางชีววิทยาใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าแมงกะพรุนซะอีก โดยพวกมันอยู่ในไฟลัม Chordata – ซึ่งเป็นไฟลัมเดียวกับสัตว์มีแกนสันหลัง รวมถึงมนุษย์เรา พวกนี้ไม่มีพิษ แถมยังเป็นมังสวิรัติ กินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ทั้งยังมีความสามารถพิเศษช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย เพราะก้อนขี้เล็กๆ ของมันซึ่งเต็มไปด้วยคาร์บอนจากพืชจะจมสู่ก้นทะเลอย่างรวดเร็ว เท่ากับเป็นการดึงคาร์บอนออกจากระบบ

ซาล์ป (Salp)

เป็นตอนที่ 1 ใน 3 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนคืออะไร?

หากพูดกันในภาษาชาวบ้าน แมงกะพรุนคือสิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติหลักๆ 3 ข้อ คือ

1. เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นวุ้นใสๆ
2. ใช้ชีวิตล่องลอยไปตามกระแสน้ำ
3. มีหนวดที่มีเข็มพิษ

แต่ความปวดหัวในการนิยามแมงกะพรุนคือ แต่ละตำราดันนิยามไม่เหมือนกัน สัตว์บางชนิดมีคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อ แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มก็บอกว่ามันไม่ใช่แมงกะพรุน เพราะมันมีบางอย่างทางชีววิทยาแตกต่างกับแมงกะพรุนทั่วไปมากเหลือเกิน ในขณะที่บางชนิดดูเผินๆ คล้ายแมงกะพรุนมาก แต่ดันไม่มีเข็มพิษ ทำให้หนังสือหลายเล่มบอกว่ามันไม่ใช่แมงกะพรุน ในขณะที่หนังสือบางเล่มก็นับรวมพวกมันเข้าไปด้วย

และนี่จึงทำให้การจัดหมวดหมู่ทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญ เพราะมันจะทำให้เราเห็นภาพว่า ตัวไหนเป็นญาติใกล้เคียงกับตัวไหน… เพราะ ‘ชื่อ’ จะเรียกอย่างไรก็ไม่สำคัญ ตราบใดที่เราเข้าใจว่าสัตว์ชนิดนี้คืออะไร ต่างจากกลุ่มอื่นตรงไหน มีจุดสังเกตอย่างไร และเมื่อเรารู้จักมัน เราก็จะรู้ว่าตัวไหนอันตรายควรหนีห่าง หรือตัวไหนที่เราสามารถลอยตัวชื่นชมความมหัศจรรย์ของมันได้อย่างสบายใจ

แมงกะพรุนอยู่ตรงไหนในต้นไม้แห่งวิวัฒนาการ ?

แมงกะพรุน – ในความหมายที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นแมงกะพรุนแน่ๆ — คือสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) มีเพื่อนร่วมไฟลัมคือ ปะการัง ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ไฮดรอย์ ไฮดรา ปากกาทะเล ถ้วยทะเล ไซโฟโนฟอร์ ฯลฯ โดยเอกลักษณ์ประจำไฟลัมนี้คือ มีเข็มพิษ (Stinging Cells) ที่ทำงานด้วยระบบสัมผัส แตะปุ๊บ ยิงปั๊บ ส่วนพิษจะร้ายแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับชนิดสัตว์ ปริมาณพิษที่ได้รับ และความแพ้ของแต่ละคน

Jellyfish Taxonomy Chart

จากระดับไฟลัม นักชีววิทยาก็แบ่งย่อยออกเป็น คลาส (Class) ต่อไปอีก (อ่าน “วิธีการแบ่งหมวดหมู่แบบวิทยาศาสตร์“) แมงกะพรุนที่เราคุ้นเคยกันจะอยู่ใน 4 คลาสหลักๆ ดังนี้

Class: Staurozoa

เป็นแมงกะพรุนที่หน้าตาพิสดารกว่าชาวบ้านเขา คือมีรูปร่างคล้ายแก้วแชมเปญเกาะติดอยู่ที่พื้นทะเล ไม่ได้ล่องลอยกลางน้ำเหมือนแมงกะพรุนทั่วไป พวกนี้เราเรียก ‘แมงกะพรุนก้าน’ หรือ ‘Stalked Jellyfish’

Cnidaria Class Staurozoa

Class Staurozoa, Phylum Cnidaria

 

Class: Cubozoa

นี่คือกลุ่มสายโหดที่เรารู้จักกันในนาม ‘แมงกะพรุนกล่อง’ (Box Jellyfish) ผู้มีพิษร้ายแรงขนาดทำให้คนตายได้ โดยส่วนร่ม (bell) ของพวกนี้จะดูคล้ายกล่อง มีหนวดยาวเฟื้อยที่เต็มไปด้วยเข็มพิษ และมีเซลล์รับแสงที่พัฒนามาก

Class Cubozoa, Phylum Cnidaria

 

Class: Scyphozoa

นี่คือกลุ่มที่เราเรียกว่าเป็น ‘แมงกะพรุนแท้’ (True Jellyfish) คือตรงตามลักษณะโหงวเฮ้งของแมงกะพรุนที่เราคุ้นเคยกันทุกประการ โดยมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกลุ่มอื่นคือ มีแขนรอบปาก (Oral Arms) ที่มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อยึกยือที่ห้อยย้อยลงมา ทำหน้าที่สาวเหยื่อใส่ปาก ในขณะที่หนวดที่เป็นเส้นๆ นั้น บางชนิดก็มี บางชนิดก็ไม่มี

Class Scyphozoa, Phylum Cnidaria

 

Class: Hydrozoa

กลุ่มนี้จะรวมมิตรสมาชิกหลากหลาย ตั้งแต่ไฮดราและไฮดรอย์, ไซโฟโนฟอร์ รวมไปถึง แมงกะพรุนในกลุ่ม Hydromedusa เช่น Immortal Jellyfish, Lion’s Mane Jellyfish ฯลฯ

แมงกะพรุนกลุ่ม Hydromedusa, Phylum Cnidaria

 

*แมงกะพรุนทั้งหมดในกลุ่มนี้ เรียกรวมๆ อย่างเป็นทางการว่า เป็นกลุ่มของ Medusozoa (Medusa = ช่วงชีวิตในวัยว่ายน้ำของแมงกะพรุน, zoa = สัตว์)

แมงกะพรุนคืออะไร

ร่างกายมหัศจรรย์ของน้องเยลลี่

แมงกะพรุนสุดว้าวแห่งท้องทะเล

Jellyfish’s Got Talent : ความสามารถซูเปอร์พาวเวอร์ของเหล่าแมงกะพรุน

ตามติด… ส่องชีวิตแมงกะพรุน

แมงกะพรุนและถิ่นที่อยู่

นวัตกรรมยุคใหม่ แรงบันดาลใจจากแมงกะพรุน

Jellyfish Bloom: ปรากฏการณ์แมงกะพรุนสะพรั่ง

สัตว์มีพิษอื่นๆ ในทะเล

ภาคผนวก: วิธีการแบ่งหมวดหมู่แบบวิทยาศาสตร์