ลองจินตนาการถึงหนังไซไฟที่เริ่มต้นฉากแรกด้วยพระเอกแก่ๆ ผิวหนังเหี่ยวย่น โรคภัยรุมเร้า แล้วเขาก็นอนลงบนเตียง หลับไป ร่างกายค่อยๆ หดเล็กลง ทันใดนั้น เขาก็กลายร่างย้อนวัยกลายเป็นเด็กน้อย แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่!

สำหรับมนุษย์ นี่อาจดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ห่างไกลจากความเป็นไปได้ แต่สำหรับแมงกะพรุน… นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง!!

ในปี 2011 นักวิจัยทางทะเลคนหนึ่งเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนพระจันทร์ (Aurelia spp.) ตัวหนึ่งมาเลี้ยงในห้องแล็บ เวลาผ่านไปจนแมงกะพรุนตัวนั้นเริ่มแก่ตัวและใกล้ตาย แต่แทนที่จะทิ้ง เขากลับย้ายมันไปไว้ในอีกตู้หนึ่ง ด้วยความคิดแค่ว่า เผื่อจะมีอะไรน่าสนใจ… แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เหนือความคาดหมายสุดๆ

Schematic life cycle of Aurelia.

Schematic life cycle of Aurelia.

ในตู้ที่ซากแมงกะพรุนแก่ๆ จมลงสู่พื้น กลับปรากฏหน่อของ Polyp (วัยเด็กของแมงกะพรุน) งอกออกมา เปรียบได้กับเห็นตัวหนอนชินเมโจได๋ งอกออกมาซากผีเสื้อ! การย้อนวัยนี้นอกจากเกิดเมื่อแมงกะพรุนมีอายุมากแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นเมื่อมันเจอภาวะไม่เหมาะสม เช่น อาหารไม่พอ หรือในตู้แออัด แมงกะพรุนบางส่วนจะค่อยๆ จมลงสู่พื้น ลำตัวหดเล็กลง อวัยวะภายในสลายไป แล้วสักพัก หน่อ Polyp ก็จะงอกฟื้นขึ้นมาจากความตาย… ใช้ชีวิตและขยายพันธุ์ต่อไป!

ภาพ: https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0145314

ความสามารถนี้ ไม่ได้จำกัดแค่แมงกะพรุนพระจันทร์เท่านั้น แต่แมงกะพรุนอีกหลายชนิด เช่น Chrysaora hysoscellia, Rhizostoma pulmo, Turritopsis nutricula ฯลฯ ก็มีบันทึกไว้ว่าสามารถย้อนวัยจากระยะ Ephyra (วัยรุ่นของแมงกะพรุน) กลับไปสู่ระยะ Polyp ได้เช่นกัน

แต่ที่ต้องยกให้เป็นอันดับหนึ่งและเป็นเทพแห่งการย้อนวัยโดยแท้ ก็คือ ‘แมงกะพรุนอมตะ’ (Immortal Jellyfish) (Turritopsis dorhnii) ที่สามารถย้อนกลับไปกลับมาระหว่าง Medusa – Polyp ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งเหตุผลเดียวที่มันไม่ลอยอยู่เต็มทะเลก็คือ ถูกกินนั่นเอง

อ้างอิง

ในสัตว์หลายชนิด เช่น ปลาดาว, จิ้งจก, ซาลาแมนเดอร์ สามารถงอกส่วนของร่างกายที่ขาดไปได้ แต่สำหรับแมงกะพรุนพระจันทร์ (Moon Jellyfish) (Aurelia aurita) พวกมันมีวิธีการซ่อมแซมตัวเองที่ล้ำกว่านั้น

การค้นพบนี้เกิดขึ้นในห้องแล็บแห่งหนึ่ง เมื่อนักวิจัยอยากรู้ว่าหากเราตัดแขนแมงกะพรุน มันจะสามารถงอกใหม่ได้หรือไม่ พวกเขาจึงทดลองกับแมงกะพรุนพระจันทร์ที่อยู่ในระยะ Ephyra (แมงกะพรุนน้อยที่เพิ่งแยกตัวออกมาจาก Polyp) ซึ่งมีรูปร่างเหมือนดอกไม้ 8 แฉก เพราะในวัยนี้มีโครงสร้างเรียบง่ายและเห็นได้ชัดเจน

พวกเขาเริ่มต้นโดยวางยาสลบพวกมัน แล้วตัดแขนบางส่วนของมันทิ้ง ทำให้พวกมันเหลืออยู่ 2-7 แขน ตามแต่ว่าตัวไหนจะโชคดีโชคร้าย แล้วใส่กลับคืนลงในตู้ เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง แผลพวกมันก็เริ่มปิด แต่แทนที่พวกมันจะงอกแขนที่หายไปกลับมา มันกลับใช้วิธียืดหดกล้ามเนื้อเพื่อจัดเรียงเซลล์ใหม่ จนกระทั่งแขนที่เหลืออยู่ถูกจัดเรียงรอบๆ ตัวอย่างสมมาตร คือแต่ละแขนมีระยะห่างเท่าๆ กัน

นักวิจัยได้ทดลองต่อไปโดยหยดยาคลายกล้ามเนื้อลงในบางตู้ ซึ่งก็พบว่าในตู้นั้น แมงกะพรุนจะกลับคืนสู่ความสมมาตรช้าลง ในขณะที่เมื่อเพิ่มการกระตุ้นกล้ามเนื้อ กระบวนการจะเร็วขึ้น

เหตุผลที่พวกมันวิวัฒนาการมาในทิศทางนี้ ก็เพราะปัจจัยสำคัญของชีวิตแมงกะพรุน ไม่ใช่จำนวนแขน แต่คือความสมดุลของร่างกาย เพราะหากพวกมันมีร่างกายไม่สมมาตร มันก็จะกลายเป็นแมงกะพรุนแขนเป๋ ว่ายน้ำกะเผลกๆ และมีปัญหาในการกินอาหารด้วย

ภาพและข้อมูลงานวิจัยจาก https://www.pnas.org/content/112/26/E3365

แม้แมงกะพรุนจะดูเป็นสัตว์บอบบาง แต่ที่จริงแล้วมันสุดแสนจะถึกและทนทาน หลักฐานจากฟอสซิลแมงกะพรุนดึกดำบรรพ์ยืนยันว่า พวกมันอยู่รอดบนโลกนี้มาแล้วกว่า 500 ล้านปี รอดพ้นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) ครบทั้ง 5 ครั้ง – มหาวิบัติที่คร่าสิ่งมีชีวิตบนโลกไปกว่า 99% ไม่อาจทำอะไรน้องเยลลี่ของเรา !!

แม้กระทั่งปัจจุบัน – ในยุคที่เรียกว่าเป็น ‘ยุคแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6’ (The 6th Extinction) ซึ่งเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จากน้ำมือมนุษย์ – ไม่ว่าจะโลกร้อน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทะเลมีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น มลพิษและสารเคมีในทะเลเพิ่มขึ้น ขยะพลาสติกทุกหนทุกแห่ง แต่เจ้าแมงกะพรุนก็ดูเหมือนจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร แถมยังเพิ่มจำนวนสบายใจเฉิบด้วยซ้ำ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม…

  • โลกร้อน : อุณหภูมิที่สูงขึ้นกลับช่วยเพิ่มอัตราเมตาบอลิซึมของแมงกะพรุน ทำให้พวกมันโตเร็วขึ้น สืบพันธุ์มากขึ้น และมีชีวิตยาวนานขึ้น
  • ขยะพลาสติกในทะเล : กลายเป็นที่ให้ Polyp ยึดเกาะ และเป็น ‘เรือนแพ’ พาพวกมันกระจายพันธุ์ไปทั่วมหาสมุทร ส่วนพวกตัวเต็มวัยก็อาศัยขยะที่ลอยล่องเป็นเกราะกำบังหลบซ่อนตัว เพราะสีสันของขยะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ล่า โดยเฉพาะ ‘เต่าทะเล’ – นักกินแมงกะพรุนมือวางอันดับหนึ่ง ก็พ่ายแพ้ต่อขยะทะเล ไปกินถุงพลาสติกจนตายราวกับใบไม้ร่วง เหล่าแมงกะพรุนจึงเพิ่มจำนวนสบายใจโดยไม่มีใครควบคุม
  • มลพิษและสารเคมี : พวกมันอายุสั้นเกินกว่าที่ผลกระทบจากสารเคมีจะทำอะไรได้ ส่วนมะเร็งก็ไม่ต้องพูดถึง… เพราะร่างกายมันเป็นน้ำซะ 95% แทบไม่มีอวัยวะอะไรให้เป็นมะเร็ง
  • Dead Zone (พื้นที่ที่ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำมาก) : พื้นที่แบบนี้กำลังขยายตัวขึ้นทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากมลพิษและแร่ธาตุส่วนเกินที่ทำให้แพลงก์ตอนพืชเพิ่มปริมาณจนเกินสมดุล แล้วเมื่อแพลงก์ตอนพืชเหล่านั้นตายและจมสู่ก้นทะเล แบคทีเรียก็จะดึงออกซิเจนจากน้ำไปใช้ในการย่อยสลาย ทำให้ค่าออกซิเจนละลายน้ำลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ ผลคือแทบไม่มีสัตว์ชนิดไหนอาศัยอยู่ได้… แต่ถึงกระนั้น พี่แมงกะพรุนของเรายังสามารถลอยตัวหากินอยู่เหนือ Dead Zone และดำลงไปหาอาหารใน Dead Zone เป็นระยะสั้นๆ ได้ เพราะมันสามารถเก็บออกซิเจนในเนื้อเยื่อ และอัตราการใช้ออกซิเจนของมันก็ไม่มากนัก ทำให้ในพื้นที่ Dead Zone หลายแห่ง แมงกะพรุนจึงขึ้นแท่นเป็น Top Predator – ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในบริเวณนั้น
  • การทำลายชายฝั่ง : ไม่ว่าจะเป็นกำแพงกันคลื่น ท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล ท่าเรือ ตอม่อสะพาน ก็ไม่มีปัญหาต่อการเจริญเติบโตของแมงกะพรุน และจากการทดลองในห้องแล็บพบว่า Polyp ของแมงกะพรุนชอบเกาะกับวัสดุที่มนุษย์สร้างมากกว่าพื้นผิวธรรมชาติด้วยซ้ำ

ในวันที่ทะเลถูกทำร้ายและความหลากหลายในทะเลกำลังลดลงเรื่อยๆ… ไม่แน่ว่าอนาคต มหาสมุทรอาจถูกยึดครองโดยแมงกะพรุน !!

อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (เขียนโดย Lisa-ann Gershwin)

ภาพ: http://www.plosone.org/article/info:doi/10.1371/journal.pone.0001121

แมงกะพรุนอยู่บนโลกมานานแค่ไหนแล้ว ?

การจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ก็คือการดูจากซากฟอสซิล… แต่เอ๊ะ!… แมงกะพรุนไม่มีกระดูก จะมีฟอสซิลได้ด้วยเหรอ?

คำตอบคือได้! แต่ต้องเป็นในเงื่อนไขพิเศษเท่านั้น

อย่างเช่นในภาพข่างล่างนี้ นี่คือรอยแมงกะพรุนซึ่งถูกค้นพบที่รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา พวกมันถูกตะกอนที่มีความละเอียดสูงถมทับอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดร่องรอยของมันประทับลงบนชั้นตะกอน (คล้ายๆ กับรอยเท้าที่เราทิ้งไว้เมื่อเดินบนผืนทราย) อายุของฟอสซิลนี้คือ 505 ล้านปี หรือในยุคแคมเบรียนช่วงกลาง

Preserved Jellyfishes from the Middle Cambrian

Preserved Jellyfishes from the Middle Cambrian (credits: Paulyn Cartwright Susan L. Halgedahl … Bruce S. Lieberman)

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ซากฟอสซิลแมงกะพรุนที่เก่าแก่ที่สุด ในการค้นพบหลายปีต่อมา ที่หุบเขากลางทะเลทรายที่ชื่อ Death Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้พบพื้นที่ซึ่งเป็นสุสานใหญ่ของแมงกะพรุน โดยพบทั้งหมด 13 รอย ในพื้นที่แค่ 1 ตารางเมตร ซึ่งวัดอายุฟอสซิลได้ถึง 540 ล้านปีหรือต้นยุคแคมเบรียน

นักบรรพชีวิตให้สมมติฐานว่า แมงกะพรุนเหล่านี้ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นที่ชายหาด และด้วยความที่ยุคนั้นแทบจะยังไม่มีสัตว์บกที่จะมากินซาก ประกอบกับเป็นยุคที่พื้นทรายเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บรักษาสภาพซาก โดยสร้างชั้นฟิล์มมาเคลือบเหมือนกับซีลมันไว้ในถุง ทำให้สิ่งมีชีวิตอ่อนนุ่มอย่างแมงกะพรุนหลงเหลือร่องรอยมาถึงทุกวันนี้

Jellyfish Fossil 540 million years old. credit: Aaron Sappenfield/University of California, Riverside

ภาพจาก