เป็นตอนที่ 1 ใน 4 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนและถิ่นที่อยู่

แมงกะพรุนที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด ส่วนใหญ่จะอยู่ในวงศ์ Olindiidae โดยมีรายงานไว้กว่า 20 สายพันธุ์ แต่บางสายพันธุ์ก็ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

หนึ่งในสกุลที่อาศัยในน้ำจืดโดยเฉพาะคือสกุล Craspedacusta ซึ่งมีหลายสปีชีส์กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เกิดจากการที่ระยะ Polyp ติดไปกับพืชหรือดินโคลนตามเท้านก

ในประเทศไทยก็มีแมงกะพรุนน้ำจืดเช่นกัน เช่น สายพันธุ์ Craspedacusta Sinensis ซึ่งชอบอยู่ในน้ำนิ่ง พบได้แถบลุ่มแม่น้ำโขง เช่น น่าน เลย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ส่วนอีกสายพันธุ์คือ Craspedacusta Sowerbii ซึ่งชอบอยู่ในน้ำไหล* พบได้ที่แก่งบางระจัน ลำน้ำเข็ก ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งที่นั่นมีการจัดเทศกาล ‘พายเรือท่องป่าตามหาแมงกะพรุนน้ำจืด’ ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่ระยะ Medusa เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พวกมันมีขนาดราว 2-3 เซนติเมตร และพิษอ่อนมากจนไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์มีกระดูกสันหลัง

เจ้าแมงกะพรุนน้ำจืด Craspedacusta Sowerbii ยังนับเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำชั้นเลิศ เพราะพวกมันชอบอยู่ในน้ำที่มีคุณภาพดี การเห็นพวกมันจึงแปลว่าสายน้ำนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ พวกมันจะกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ส่วนในต่างประเทศที่อาศัยในน้ำนิ่ง มีรายงานว่าพวกมันกินลูกน้ำยุงด้วยเช่นกัน

*ในบางประเทศพบว่าสายพันธุ์เดียวกันนี้ชอบอยู่ในน้ำนิ่ง เช่น ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ

แหล่งข้อมูล:

เป็นตอนที่ 2 ใน 4 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนและถิ่นที่อยู่

ณ เกาะ Eil Malk (อีกชื่อคือ Mecherchar) ประเทศปาเลา ยังมีทะเลสาบมหัศจรรย์อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า ‘ทะเลสาบแมงกะพรุน’ หรือ ‘Jellyfish Lake’

ที่นี่เป็นบ้านของแมงกะพรุน Golden Jellyfish สายพันธุ์ย่อย Mastigias papua etpisoni นับแสนตัว! ซึ่งพบได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น จากการสำรวจล่าสุดในเดือนธันวาคม 2018 พบว่าพวกมันมีถึง 630,000 ตัว!

ทะเลสาบแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก โดยนักท่องเที่ยวสามารถลงไปว่ายน้ำกับแมงกะพรุนเหล่านั้นได้ – ไม่ใช่เพราะมันไม่มีเข็มพิษ แต่เป็นเพราะพิษมันอ่อนมากจนเราแทบจะไม่รู้สึก – แต่การว่ายน้ำที่นี่ เขาจะอนุญาตให้เราว่ายได้แค่ที่ผิวน้ำเท่านั้น แต่ไม่สามารถดำน้ำสกูบาได้ เพราะข้างใต้จะมีชั้นไฮโดรเจนซัลไฟด์ซึ่งเป็นพิษอยู่ ที่แม้แต่แมงกะพรุนก็ไม่ว่ายเข้าไปใกล้

ในอดีต ทะเลสาบน้ำเค็มแห่งนี้ เคยมีแมงกะพรุน10-20 ล้านตัว และมากสุดถึง 30 ล้านตัวในปี 2005 แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนแมงกะพรุนกลับลดลงอย่างมากจนแทบไม่เหลือให้เห็นเลยในปี 2016 โดยสาเหตุคาดกันว่ามาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความแห้งแล้ง สายพันธุ์ต่างถิ่นที่หลุดรอดเข้ามา ไปจนถึงมลภาวะจากครีมกันแดดของนักท่องเที่ยว จนกระทั่งที่นั่นต้องปิดการท่องเที่ยวไปราว 2 ปี

จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2018 การสำรวจพบว่าแมงกะพรุนเริ่มกลับมา จนสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอีกครั้ง โดยคราวนี้ ครีมกันแดดคือสิ่งต้องห้าม อีกทั้งนักท่องเที่ยวยังถูกขอความร่วมมือให้ปัดทรายที่รองเท้าและในกระเป๋าก่อนเข้าพื้นที่ นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้าประเทศปาเลา ยังต้องเซ็น ‘eco-pledge’ หรือคำปฏิญญาด้านสิ่งแวดล้อม ว่าจะท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึกและไม่ทำร้ายธรรมชาติ

ข้อมูล: https://edition.cnn.com/travel/article/palau-jellyfish-lake-reopens/index.html

ภาพ: Aquaimages [CC BY-SA 2.5 via Wikimedia Commons]

เป็นตอนที่ 3 ใน 4 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนและถิ่นที่อยู่

ณ ชายฝั่งทางเหนือของอลาสกา ในฤดูหนาวของปี 2017 นักวิจัยกลุ่มหนึ่งขับ Snowmobile ไปบนทะเลที่เป็นน้ำแข็ง เจาะชั้นน้ำแข็งที่หนาปึ๊กลงไป แล้วส่งอุปกรณ์ลงไปถ่ายภาพ

สิ่งที่พวกเขาพบ คือแมงกะพรุน Northern Sea Nettle (Chrysaora melanaster) ถึง 55 ตัว ซึ่งมีส่วนร่มกว้างราว 60 เซนติเมตร และหนวดยาวมากสุดถึง 3 เมตร สิ่งที่พวกมันหลายตัวกำลังทำก็คือใช้หนวดลากไปกับพื้น เพื่อจับเหยื่อจำพวกกุ้ง ปู ไอโซพอด กินเป็นอาหาร

สิ่งที่ทำให้พวกเขาทึ่งก็คือ ความอายุยืนของมัน เพราะในขณะที่แมงกะพรุนส่วนใหญ่จะมีชีวิตในวัย Medusa แค่ไม่กี่เดือนแล้วก็ตาย แต่นักวิจัยเชื่อว่าแมงกะพรุนใต้น้ำแข็งพวกนี้มีอายุยาวนานกว่านั้น พวกเขาสันนิษฐานว่า พวกมันอยู่รอดหน้าหนาวอันเย็นยะเยือกในสภาวะ Polyp และด้วยอุณหภูมิที่ต่ำทำให้ระดับเมตาบอลิซึมลดลง พวกมันจึงไม่ต้องการอาหารมาก อีกทั้งแผ่นน้ำแข็งข้างบนก็ช่วยปกป้องมันจากคลื่นทะเลอันรุนแรงด้วย

ข้อมูลและภาพ: https://www.livescience.com/60765-rare-footage-jellyfish-under-arctic-ice.html

เป็นตอนที่ 5 ใน 4 ตอนของเรื่อง แมงกะพรุนและถิ่นที่อยู่

ในน้ำลึกอันดำมืด นี่คืออีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ นักวิทยาศาสตร์พยายามจะทำความรู้จักโลกใบนี้ด้วยการส่งยานลงไปใต้น้ำหลายต่อหลายครั้ง และสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่พวกเขาพบบ่อยครั้งในดินแดนน้ำลึกอันดำมืดก็คือแมงกะพรุน พวกมันหลายชนิดสามารถเรืองแสงได้ แถมมีสีสันรูปร่างที่น่าตื่นตาตื่นใจ บางชนิดดูราวกับยูเอฟโอ บางชนิดเหมือนประกายพลุใต้ทะเล ส่วนบางชนิดก็เหมือนหมวกสีแดงของซานตาคลอส แม้กระทั่งส่วนที่ลึกถึง 3.7 กิโลเมตร ก็ยังพบแมงกะพรุน

Santa Hat Jellyfish or Helmet Jellyfish (Periphylla periphylla)

©2002 MBARI