เป็นตอนที่ 1 ใน 2 ตอนของเรื่อง Jellyfish Bloom: ปรากฏการณ์แมงกะพรุนสะพรั่ง

Jellyfish Bloom คือปรากฏการณ์ที่แมงกะพรุนรวมตัวกันอย่างหนาแน่น ซึ่งในบางกรณีอาจหนาแน่นซะจนมีแมงกะพรุนมากกว่าน้ำซะอีก โดยครั้งหนึ่งเคยมีบันทึกไว้ว่าบริเวณที่มีแมงกะพรุนหนาแน่นนี้ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งมากกว่า 100 ไมล์ !!

โดยทั่วไป การบลูมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตตามธรรมชาติของแมงกะพรุน เนื่องจากแมงกะพรุนในระยะ Polyp (ที่เป็นหน่อเกาะกับพื้น และทำการโคลนนิ่งตัวเอง) มักจะ แยกตัวออกมากลายเป็นระยะ Medusa (ที่ล่องลอยกลางน้ำ) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ผืนน้ำบริเวณนั้นเต็มไปด้วยแมงกะพรุนจำนวนมาก ซึ่งสัตว์ที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก เช่น เต่ามะเฟือง ก็มีวิวัฒนาการมาให้เหมาะกับวงจรแบบนี้ คือมีหลอดอาหารที่ยาวเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้กินแมงกะพรุนครั้งละมากๆ ได้

ในขณะเดียวกัน การกระทำของมนุษย์ก็ส่งผลเอื้อต่อการเพิ่มจำนวนของแมงกะพรุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้แมงกะพรุนเติบโตดี การประมงเกินขนาดที่กำจัดปลาคู่แข่งที่แย่งอาหารแมงกะพรุน ขยะพลาสติกที่ฆ่าผู้ล่าแมงกะพรุน รวมถึงน้ำเสียที่ทำให้ปลาอื่นตาย เหลือไว้แต่แมงกะพรุนครอบครองอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่า จำนวนแมงกะพรุนทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากขาดข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแมงกะพรุนหลายชนิดอยู่กลางทะเลเปิดและในน้ำลึก ทำให้การติดตามประชากรเป็นไปได้ยาก แต่หากพูดถึงในระดับพื้นที่ ชายฝั่งหลายแห่งมีการยืนยันถึงการเพิ่มขึ้นของแมงกะพรุนอย่างชัดเจน และหลายแห่งก็เพิ่มขึ้นในระดับที่สร้างปัญหาจนกลายเป็นวาระแห่งชาติ

เป็นตอนที่ 2 ใน 2 ตอนของเรื่อง Jellyfish Bloom: ปรากฏการณ์แมงกะพรุนสะพรั่ง

1. เมื่อแมงกะพรุน Shutdown โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แม้จะไม่ได้ตั้งใจประท้วง แต่พวกมันก็ทำให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งต้องหยุดชะงัก

ปกติแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องดูดน้ำทะเลเข้าเพื่อหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ แต่ในช่วงที่เกิดการบลูมของแมงกะพรุน พวกมันมักจะทำให้ท่ออุดตัน จนโรงงานต้องหยุดระบบเพื่อกำจัดพวกมัน ซึ่งมากเป็นตันๆ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ในช่วงปีหลังๆ มานี้ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าแต่ก่อนมาก เช่น

ปี 2005 อุดตันท่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สวีเดน

ปี 2008 อุดตันท่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ปี 2011 ปีนี้ปีเดียวอุดตันท่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สก็อตแลนด์ ญี่ปุ่น อิสราเอล อเมริกา รวมถึงโรงงานทำน้ำจืดที่อิสราเอลด้วย

ปี 2013 อุดตันท่อโรงไฟฟ้าที่สวีเดนอีกครั้ง

ปี 2017 อิสราเอลโดนอีกครั้ง

ปัญหานี้หนักหนาสาหัสขนาดที่ว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพยากรณ์ความเสี่ยงล่วงหน้า โดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สร้างโมเดลกระแสน้ำ ประกอบกับช่วงเวลาการบลูมของแมงกะพรุน แต่ก็ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องพัฒนาต่อไป

2. แมงกะพรุนยักษ์ อุดตันอวนชาวประมงญี่ปุ่น

เมื่อชาวประมงออกเรือไปจับปลา แต่สิ่งที่ติดอวนขึ้นมา กลับเป็นแมงกะพรุนขนาดเท่าตู้เย็น

นี่คือแมงกะพรุนโนะมุระในน่านน้ำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา การบลูมของแมงกะพรุนชนิดนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าในอดีตมาก โดยเกิดขึ้นแทบทุกปี สร้างความเสียหายให้ชาวประมงอย่างสาหัส ทำให้อวนขาด ปลาตาย วิถีชุมชนชายฝั่งพินาศ สร้างความเสียหายนับพันล้านเยน

3. ทำฟาร์มแซลมอนขาดทุนยับ

ปี 2007 ฟาร์มแซลมอนที่ไอร์แลนด์สูญเสียปลาแซลมอนที่เลี้ยงไว้นับแสนตัว เนื่องจากแมงกะพรุนตัวจิ๋วที่ชื่อ Mauve Stingers หลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงแซลมอน โดยในพื้นที่บ่อ 26 ตารางกิโลเมตร และลึก 11 เมตร เต็มไปด้วยแมงกะพรุนหนาแน่นนับพันล้านตัว เจ้าของได้แต่ยืนมองความหายนะโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่เกิดกับฟาร์มแซลมอน

ปี 2009 ฟาร์มปลาที่ทูนิเซียก็พบเหตุการณ์แมงกะพรุนบุกจนเสียหายเช่นกัน

ปี 2014 ที่สก็อตแลนด์ แซลมอน 300,000 ตัว ต้องตายเพราะแมงกะพรุน

ปี 2015 ฟาร์แซลมอนที่นอร์เวย์ต้องเผชิญการตายครั้งใหญ่ของแซลมอนเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2002

ปี 2018 รัฐแทสเมเนียของออสเตรเลียก็เผชิญเหตุการณ์นี้จนเสียหายราว 10 ล้านดอลล่าร์

4. เรือบรรทุกเครื่องบินต้องหยุดเดินเครื่อง เพราะแมงกะพรุนอุดตัน

ปี 2006 เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดยักษ์ของอเมริกาต้องดับเครื่องกลางทะเล ด้วยกองทัพผู้บุกรุกที่เรียกว่า ‘แมงกะพรุน’ ไปอุดตันตัวกรองและท่อดึงน้ำเข้าเพื่อหล่อเย็นเครื่องยนต์ ซึ่งการจัดการนำพวกมันออกและทำความสะอาดเมือกอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงไปจนถึงเป็นวัน

ไม่ใช่แค่อเมริกาเท่านั้น แต่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน จนถึงขนาดวิศวกรจีนประดิษฐ์ ‘เครื่องสับแมงกะพรุน’ ออกมา โดยมีตาข่ายดักแมงกะพรุนและส่งไปยังใบมีดที่จะสับพวกมันเป็นชิ้นๆ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังมีปัญหา เนื่องจากอาจสร้างผลกระทบต่อสัตว์อื่นๆ นอกจากนั้น ก็ยังมีข้อกังวลว่า หนวดพิษของแมงกะพรุนอาจถูกพัดเข้าชายหาด เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงหากแมงกะพรุนที่กำลังท้องเกิดติดตาข่าย มันจะปล่อยไข่ ซึ่งทำให้เกิดลูกหลานมากกว่าเดิม

5. ทำลายการท่องเที่ยว

การบลูมของแมงกะพรุนตามแนวชายฝั่ง ยังสร้างผลกระทบมหาศาลต่อการท่องเที่ยว

ในบางปี ตลอดแนวชายฝั่ง 300 กิโลเมตร ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เต็มไปด้วยฝูงแมงกะพรุนนับล้าน ทำให้คนบาดเจ็บแต่ละปีมีนับแสนราย ชายหาดหลายแห่ง เช่น ออสเตรเลีย, ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต้องปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าในบางช่วง เนื่องจากฝูงแมงกะพรุนกล่องยึดครองผืนน้ำ ส่วนชายหาดหลายแห่งก็ต้องกั้นตาข่ายในทะเลเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ว่ายน้ำ

แหล่งข้อมูล: