รวดเร็วยิ่งกว่ามือปืนสไนเปอร์ ก็คือการยิงเข็มพิษของแมงกะพรุนนี่แหละ
เข็มพิษแมงกะพรุนทำงานด้วยระบบสัมผัส มีอะไรไปแตะปุ๊บ เข็มพิษจะยิงทันที แมงกะพรุนบางชนิดยิงเข็มพิษที่ได้รวดเร็วมากโดยใช้เวลาน้อยกว่า 0.01 วินาที คิดเป็นความเร่งถึง 40,000g – นี่คือหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางชีวภาพที่เร็วที่สุด และแม้ว่าแมงกะพรุนจะตายไปแล้ว แต่เข็มพิษก็ยังยิงได้ แม้กระทั่งหนวดที่เหลืออยู่เส้นเดียว ก็ยิงเข็มพิษได้เช่นกัน
Diagram of a cnidocyte ejecting a nematocyst
หากนำหนวดแมงกะพรุนไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดู จะพบว่าหนวดของมันซ่อนไว้ด้วยเซลล์เข็มพิษ (Cnidocyte) มากมาย โดยในแต่ละเซลล์นั้นจะมีแคปซูลพิษ (Nematocyst) ซึ่งในแคปซูลแต่ละอันนั้นจะบรรจุด้วยน้ำพิษ (venom) และมีท่อนำพิษ (Nematocyst tube) ที่หน้าตาคล้ายฉมวกปลายแหลมขดอยู่
ที่ปลายเซลล์เข็มพิษจะมีขนเล็กๆ ทำหน้าที่คล้ายยามเฝ้าประตู เมื่อใดก็ตามที่ขนนี้ได้รับการสัมผัส แม้จะเพียงน้อยนิด ก็จะกระตุ้นให้ท่อนำพิษที่หน้าตาเหมือนฉมวกพุ่งออกมาทิ่มแทงเหยื่อ พิษที่ถูกเก็บอยู่ทั้งในฉมวกและในแคปซูลก็จะถูกปล่อยออกมา โดยฉมวกนี้ยังมีหนามรอบๆ เพื่อไว้ยึดยึดกับผิวเหยื่อไม่ให้หลุดด้วย!
พื้นที่เพียงหนึ่งตารางเซนติเมตรบนหนวดแมงกะพรุน อาจมีเซลล์เข็มพิษกระจายอยู่ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนต่อม ตามแต่ชนิดของแมงกะพรุน ดังนั้น หนวดแต่ละเส้นอาจมีเซลล์เข็มพิษอยู่หลักแสนถึงหลักล้านเซลล์เลยทีเดียว
แม้ว่าที่อยู่ของเซลล์เข็มพิษหลักๆ จะอยู่ที่หนวด แต่ในแมงกะพรุนบางชนิด เข็มพิษยังซ่อนอยู่ในแขนรอบปาก รูปาก และมีไม่กี่ชนิดที่มีเข็มพิษที่บริเวณร่มด้วย โดยเซลล์เข็มพิษเหล่านี้มีรูปร่างต่างๆ กัน และต่างออกไปตามสายพันธุ์ – หากเราอยากระบุชนิดแมงกะพรุนผู้ต้องหาที่ทำให้เราเจ็บแสบ วิธีการก็ไม่ยาก เพียงแค่ใช้สก็อตเทปแปะบริเวณผิวหนังที่ถูกแมงกะพรุนสัมผัส (ที่แห้งแล้ว) และลอกออก เราก็จะได้ตัวอย่างเข็มพิษเอาไปตรวจได้
ส่วนเหตุผลที่แมงกะพรุนไม่ยิงเข็มพิษใส่ตัวเอง เพื่อนร่วมสายพันธุ์เดียวกัน หรือวัสดุที่ไม่มีชีวิต ก็เพราะมันมีระบบตรวจจับสารเคมี (Chemoreceptor) เป็นตัวตัดสินว่าจะต้องยิงเข็มพิษหรือไม่นั่นเอง
อ้างอิง: หนังสือ Jellyfish: A Natural History (ผู้เขียน Lisa-ann Gershwin)
ภาพ: https://manoa.hawaii.edu/exploringourfluidearth/biological/invertebrates/phylum-cnidaria/activity-nematocysts