นักวิทยาศาสตร์ในอดีตเคยเข้าใจว่า มีสัตว์ทะเลไม่กี่ชนิดที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหาร เนื่องจาก หนึ่ง-ร่างกายแมงกะพรุนประกอบด้วยน้ำถึง 95% ทำให้มีสารอาหารน้อย สอง-จากการตรวจทางเดินอาหารของสัตว์ต่างๆ ไม่ค่อยมีซากแมงกะพรุนหลงเหลืออยู่ ยกเว้นเต่าทะเลกับปลาแสงอาทิตย์ที่เห็นชัดเจน
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถบ่งบอกชนิดของเหยื่อ โดยตรวจจากร่องรอย DNA ที่เหยื่อหลงเหลือไว้ในเนื้อเยื่อผู้ล่าได้ ทำให้พวกเขาค้นพบสิ่งที่น่าตื่นเต้นว่า สัตว์ที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหารมีมากมายกว่าที่เราเคยคิดนัก
เต่าทะเล
เต่าทะเลในวัยเด็กทุกสายพันธุ์มักจะเป็นพวกกินไม่เลือก (Generalist) โดยจะกินแทบทุกอย่างที่หาได้ รวมทั้งแมงกะพรุน แต่พอมันโตเต็มวัย มันจะเลือกกินอาหารแบบเฉพาะเจาะจง (Specialist) เช่น เต่าตนุกินสาหร่ายและหญ้าทะเล เต่ากระกินฟองน้ำ และตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งของนักกินแมงกะพรุนก็ต้องมอบให้แก่ ‘เต่ามะเฟือง’
เต่ามะเฟือง (Leatherback Sea Turtle) มีระบบทางเดินอาหารที่ถูกออกแบบมาให้กินแมงกะพรุนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นหลอดอาหารที่เต็มไปด้วยหนามแหลม (papillae) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าในเต่าทะเลชนิดอื่น ซึ่งจะช่วยให้เหยื่อไม่ลื่นหลุดออกมา อีกทั้งยังช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหลอดอาหารไม่ให้ถูกเข็มพิษของแมงกะพรุนทิ่มแทงด้วย แม้แต่แมงกะพรุนที่พิษร้ายที่สุดอย่าง ‘แมงกะพรุนกล่อง’ พี่เต่ามะเฟืองของเราก็จัดการได้!
นอกจากนั้น พวกเธอยังมีหลอดอาหารยาวกว่าเต่าทะเลอื่นๆ ราว 6 เท่า! ทำให้เต่ามะเฟืองสามารถกินแมงกะพรุนครั้งละมากๆ ได้ เหมาะสมกับวงจรชีวิตแมงกะพรุนที่เกิดพร้อมกันเป็นฤดูกาล (Bloom) และด้วยความที่ร่างกายแมงกะพรุน 95% เป็นน้ำ ทำให้เจ้าเต่าต้องสวาปามแมงกะพรุนในปริมาณมหาศาล ซึ่งในบางฤดูกาลมันอาจกินแมงกะพรุนมากถึง 73% ของน้ำหนักตัวเลยทีเดียว นับเป็นจอมยุทธ์มือหนึ่งที่ช่วยควบคุมปริมาณแมงกะพรุนโดยแท้
ดูคลิปวิดีโอ: https://news.nationalgeographic.com/2017/06/sea-turtle-eats-jellyfish-video-ecology-marine-spd/
ปลาแสงอาทิตย์ (Ocean Sunfish, Mola mola)
ปลาแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกกันว่า ปลาโมลาโมลา คือปลากระดูกแข็งที่ใหญ่ที่สุดในทะเล รูปร่างเหมือนปลาครึ่งตัวที่ส่วนหางหายไป เธอคืออีกหนึ่งนักกินเยลลี่ และด้วยความที่มีขนาดใหญ่ราว 2 เมตร ทำให้มันต้องกินแมงกะพรุนในปริมาณมหาศาล อย่างไรก็ตาม เจ้าโมลายังกินอาหารอื่นๆ เช่น ปลา สาหร่าย ไปจนถึงแพลงก์ตอนด้วย
ทากทะเลในกลุ่ม Aeolid
นี่คือหัวขโมยแห่งท้องทะเล ผู้ขโมยเข็มพิษของแมงกะพรุนมาไว้กับตัว!
ทากทะเลในกลุ่มนี้จะแทะเล็มสัตว์ในไฟลัม Cnidaria เป็นอาหาร เช่น แมงกะพรุน ปะการัง ดอกไม้ทะเล ไฮดรอยด์ ฯลฯ แต่แทนที่จะย่อยสิ่งที่กินไปทั้งหมด มันกลับเก็บเข็มพิษของเหยื่อเอาไว้ แล้วเอามาใช้เป็นอาวุธของตัวเอง โดยจะเก็บไว้ที่ปลายรยางค์ (cerata) อย่างเช่นจุดส้มๆ ที่เห็นในภาพ
นี่ตัวอย่างของประโยคที่ว่า “You are what you eat!” โดยแท้
ปลา, ปู, กุ้งล็อบสเตอร์, ปลาหมึก
ปลาหลายชนิด ก็จะตอดเนื้อแมงกะพรุนกินเล่นเป็นอาหารว่าง
ปูบางชนิด เช่น ปูม้า (Blue Swimmer Crab) สามารถว่ายน้ำขึ้นมาจับแมงกะพรุน ดึงลงไปที่พื้นทะเล และฉีกทึ้งเข้าปาก ส่วนตัวอ่อนกุ้งล็อบสเตอร์ก็จะชอบเกาะหลังแมงกะพรุน ขอโดยสารเดินทางไปที่ต่างๆ แบบไม่เปลืองพลังงาน แถมโดยสารฟรีๆ ไม่พอ ช่วงที่นึกหิวก็ยังแทะเล็มหนวดแมงกะพรุนเจ้าบ้านกินอีก!
ส่วนปลาหมึกยักษ์แห่งทะเลลึกสายพันธุ์ Haliphron atlanticus ก็เคยถูกบันทึกว่ามันกินแมงกะพรุนด้วย
Longfin Bannerfish Eating Jellyfish
ปะการัง
เมื่อกระแสน้ำเป็นใจ พัดพาแมงกะพรุนให้ลอยมาติดกอปะการัง ปะการังบางชนิดก็ถือเป็นลาภปาก
แม้ว่าตัวปะการังแต่ละตัว (Polyp) จะเล็กกว่าแมงกะพรุนมากนัก แต่พวกมันก็อาศัยหลักความสามัคคี ช่วยกันจับแมงกะพรุนไว้แน่น ทำให้แมงกะพรุนหนีไปไหนไม่ได้ แล้วแต่ละ Polyp ก็ค่อยๆ กินแมงกะพรุนแบบเป็นๆ
Orange Cup Coral Eating Jellyfish
ภาพ:
https://esajournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/ecy.2413
เรื่อง: https://www.bbc.com/news/uk-scotland-edinburgh-east-fife-45022553
ปลา นกทะเล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล
แม้ว่าแมงกะพรุนหลายชนิดจะกินปลา แต่ปลาบางชนิดก็ชอบตอดแมงกะพรุนกินเล่นเช่นกัน ส่วนแมงกะพรุนที่เกยตื้นชายหาด ก็เป็นอาหารของนกทะเลและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดในยามที่อาหารหายาก
และจากเทคโนโลยีการตรวจ DNA ของเหยื่อในเนื้อเยื่อของผู้ล่า ทำให้พบว่า 76% ของเหยื่อในตัวอ่อนปลาไหลคือแมงกะพรุน ในขณะที่จากการตรวจขี้นกอัลบาทรอส พบว่ามันกินแมงกะพรุนราว 20% ส่วนน้องเพนกวินก็ไม่น้อยหน้า พบว่ามีสัดส่วนของแมงกะพรุนในอาหารถึง 40% เลยทีเดียว
มนุษย์
แมงกะพรุนถูกบันทึกว่าเป็นอาหารของชาวจีนมานับพันปี แต่แน่นอนว่าไม่ใช่แมงกะพรุนทุกชนิดที่กินได้ และก่อนจะกินก็ต้องผ่านกระบวนการที่เหมาะสม
สายพันธุ์แมงกะพรุนที่คนกินได้ ส่วนใหญ่อยู่ใน Class Scyphozoa และมักมีพิษอ่อน เช่น แมงกะพรุนลูกปืนใหญ่ (Cannonball Jellyfish)(Stomolophus meleagris), แมงกะพรุนหนัง (Rhopilema spp.), แมงกะพรุนลอดช่อง (Lobonema smithi), แมงกะพรุนหอม (Mastigias sp.) ฯลฯ
ปรสิต
แม้แต่แมงกะพรุนก็มีปรสิตกับเขาเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแอมฟิพอด (Amphipod สัตว์ในตระกูล Crustacean ขนาดเล็ก) ซึ่งจะฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อแมงกะพรุน คอยกัดกินเนื้อเยื่อ รวมถึงอวัยวะสืบพันธุ์ของแมงกะพรุนเป็นอาหาร
ค้นคว้าต่อได้ที่
https://www.nationalgeographic.com/animals/2019/01/many-ocean-creatures-surprisingly-eat-jellyfish/
https://seaturtleexploration.com/inside-of-a-sea-turtles-mouth/
https://www.nytimes.com/2018/09/28/science/jellyfish-predators-oceans.html
https://www.researchgate.net/publication/233497604_Jellyfish_as_food